นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนปีนี้ รวมถึงบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าฝนปีนี้จะมาเร็วกว่าปีที่ผ่านๆ มา โดยจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ฝนปีนี้จะมาเร็วกว่าปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีฝนในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ และจะมีปริมาณฝนตกสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี พร้อมตรวจสอบสภาพอ่างเก็บน้ำและอาคารชลประทานต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ
นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ และเจ้าหน้าที่เข้าประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที และได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานเร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้แล้วเสร็จ
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศในปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 38,348 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 50% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 14,419 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 13,871 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 73% ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,417 ล้าน ลบ.ม. หรือ 38% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 2,748 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,082 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 82% ของแผนฯ ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งปี 63/64 เป็นไปตามแผน มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนสิ้นฤดูแล้งนี้ และมีน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน
ด้าน นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนั้น เหลือเวลาอีกเพียง 30 วันจะสิ้นสุด พบว่าปริมาณน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาปีนี้มีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการว่างงาน ส่งผลให้มีการเพาะปลูก (นอกแผน) เพิ่มขึ้นถึงจำนวน 2.79 ล้านไร่
อย่างไรก็ตามพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าวได้ทำการเก็บเกี่ยวไปกว่าครึ่งแล้ว และไม่ได้รับความเสียหายใดๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการน้ำที่เป็นไปตามนโยบายของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย การอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ และภาคการเกษตร
นอกจากนี้กรมชลประทานยังได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน โดยจะมีการปรับแผนการเพาะปลูกในทุ่งบางระกำประมาณ 265,000 ไร่ โดยจะให้เริ่มเพาะปลูกในวันที่ 1 เม.ย.64 เพื่อสามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนเดือนสิงหาคม ซึ่งกรมชลประทานจะใช้ทุ่งบางระกำเป็นแก้มลิงในช่วงเดือนปลายเดือนสิงหาคม ในกรณีที่ลำน้ำยมมีน้ำส่วนเกิน เพื่อป้องกันอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดสุโขทัย