หมอยง แนะเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สร้างภูมิคุ้มกันหมู่รับเปิดประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday April 5, 2021 16:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกที่มีผู้ป่วยติดเชื้อไปแล้วกว่า 131 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตกว่า 2.8 ล้านคน ขณะนี้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่กลับมาทวีความรุนแรงวันละ 5-6 แสนราย โดยเป็นการแพร่ระบาดของสายพันธุ์อังกฤษ

ขณะที่การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดทั่วโลก อยู่ที่ 650 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร 6.5% ซึ่งหากจะให้ครอบคลุม 70% ของประชากรทั่วโลก 7 พันล้านคน จะต้องฉีดให้ได้ 5 พันล้านโดส และใช้วัคซีน 1 หมื่นล้านโดส ขณะที่การฉีดวันละ 15 ล้านโดส จะต้องใช้เวลา 650 วัน ดังนั้นจะต้องเร่งฉีดเพิ่มอีกเท่าตัว เป็นวันละ 30 ล้านโดสเพื่อให้ถึงเป้าหมายภายในปีเดียว

"หลังจากเริ่มมีวัคซีน ยอดผู้ติดเชื้อชะลอตัวลง แต่ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้นวันละ 5-6 แสนราย เนื่องจากการแพร่ระบาดจากสายพันธุ์อังกฤษที่ติดง่ายและเร็ว แต่การฉีดวัคซีนยังล่าช้า" ศ.นพ.ยง กล่าว

ความสำเร็จจากการฉีดวัคซีนจะเห็นผลชัดเจนอย่างที่ประเทศอิสราเอลที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากวันละ 6 พันรายมาเหลืออยู่ที่หลักหน่วย หรือหากจะเปรียบเทียบระหว่างประเทศอังกฤษกับฝรั่งเศสจะพบว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ของอังกฤษมีแนวโน้มลดลงมาก แต่ฝรั่งเศสกลับมาเพิ่มขึ้นอีกระลอก เช่นเดียวกันสหรัฐที่มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลง หลังรณรงค์ฉีดวัคซีนให้ครบเป้าหมายภายในเดือน พ.ค.นี้ ดังนั้นจึงอยากให้มีการเร่งฉีดวัคซีนให้คนหมู่มากในประเทศไทยให้ถึงเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ เพื่อรองรับการเปิดประเทศ และให้มีชีวิตที่ดีขึ้นในวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งขณะนี้ ประเทศไทยมีการฉีดให้ประชาชนไปแล้ว 244,254 โดส ครอบคลุมประชากรอย่างน้อย 0.4%

"ขอให้มั่นใจว่าคนไทยไม่ใช่ประชากรกลุ่มแรกที่ฉีดวัคซีนนี้ หลังจากมีการใช้งานแล้วทั่วโลกนับร้อยล้านโดส" ศ.นพ.ยง กล่าว

สำหรับวัคซีนที่มีการใช้งานทั่วโลกทุกตัวในขณะนี้ สามารถช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตลงได้ในอัตราสูง ส่วนอาการข้างเคียงที่กังวลกันนั้นถือว่าไม่รุนแรง เพราะหากชั่งน้ำหนักกันแล้ว การฉีดวัคซีนถือว่าเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และในอนาคตกำลังจะขยายเพดานการฉีดวัคซีนลงมาที่อายุ 12-18 ปี, อายุ 6-12 ปี และแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี ตามลำดับ

ส่วนกรณีมีผู้เสียชีวิตจากลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหลังได้รับวัคซีนในสหภาพยุโรปนั้น มีโอกาสเกิดขึ้นได้ 1 ใน 5 แสนโดส ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าอาการเส้นประสาทอักเสบ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ