นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและชีวิตของประชาชนในอันดับต้นๆ โดยเฉพาะช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ (10-16 เม.ย.64) ซึ่งมีการสัญจรอย่างคับคั่ง ทั้งจากการเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยว จึงอาจจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าในช่วงปกติ
ดังนั้น เพื่อลดความสูญเสียต่อชีวิตพี่น้องประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด กรม สบส.จึงได้บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พิจารณามาตรฐานการตั้งด่านชุมชน กำหนดแนวทางการดำเนินงานคัดกรองผู้มีอาการมึนเมาในขณะขับขี่ยานพาหนะ ช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ พร้อมดึงพลังของภาคประชาชนอย่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้ามาร่วมตั้งด่านชุมชนเพื่อคัดกรองผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสาร/ผู้ร่วมเดินทางที่สงสัยว่าดื่มสุรา ตามแนวทางประเมินอาการมึนเมาสุราเบื้องต้น พร้อมทำการบันทึกข้อมูล และรายงานผลการดำเนินงานคัดกรอง แก่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาและกำหนดแนวทางการดำเนินการด่านชมชนให้ตอบโจทย์การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.ธเรศ กล่าวว่า นอกจากการดึงพลังของภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว กรม สบส.ยังได้ประสานความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลเอกชนให้ดำเนินการเตรียมความพร้อมให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ตามนโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" (UCEP) ให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้อย่างทันท่วงที โดยที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ใน 72 ชั่วโมงแรก
สถานพยาบาลจะต้องเตรียมความพร้อมใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) มาตรฐานของสถานพยาบาล ซึ่งจะต้องมีความพร้อมในการให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วย ทั้งด้านสถานที่ ผู้ให้บริการ ยาและเวชภัณฑ์ ความปลอดภัย ตามมาตรฐานที่พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 กำหนด และ 2) การประเมินและคัดกรองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) โดยใช้ระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อป้องกันมิให้เกิดการปฏิเสธหรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ โดยกรม สบส.ก็ได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ของกรม สบส.สุ่มตรวจความพร้อมการรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถานพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะสถานพยาบาลบาลเอกชนที่อยู่ในเส้นทางสัญจรหลัก ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่าจะได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ มาตรฐานทั้งในช่วงปกติและช่วงเทศกาลสำคัญ
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. ได้ฝากถึงผู้ประกอบกิจการ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ให้ดูแลบุคลากรในสังกัดของตนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ห้ามนำค่าใช้จ่ายมาเป็นเงื่อนไขการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน หากพบปัญหาในการวินิจฉัยคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ให้ปรึกษาขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ของ สพฉ.ทันที
ทั้งนี้ อาการเจ็บป่วยที่สามารถใช้สิทธิตามเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) ของ สพฉ.แบ่งเป็น 6 อาการ ได้แก่ 1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3.มีอาการซึม เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด หรือชักต่อเนื่อง และ 6.มีอาการที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต หรือระบบสมอง หากประชาชนพบผู้ที่มีอาการป่วยอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้นให้รีบติดต่อสายด่วน 1669 ของ สพฉ.เพื่อส่งตัวไปไปรับการรักษาในสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดโดยทันที