พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ชุดเล็ก ร่วมกับคณะแพทย์จากโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนว่า วันนี้ได้เชิญทั้งภาครัฐ เอกชนและสาธารณสุข มาหารือถึงหลักการทางการแพทย์ การอำนวยความสะดวก และการจัดหาวัคซีน ซึ่งหลักการสำคัญคือจะทำอย่างไร ให้มีวัคซีนเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นทางเลือก โดยจะต้องไปแก้ไขกระบวนการนำเข้า เพื่อให้โรงพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อมได้จัดหาวัคซีนเอง เพื่อเป็นการช่วยภาครัฐอีกทางหนึ่ง เนื่องจากขณะนี้มีแต่วัคซีนที่รัฐบาลจัดหาในภาวะฉุกเฉิน จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาในส่วนนี้โดยมีนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษา ศบค. เป็นประธาน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ทางโรงพยาบาลเอกชนมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือรัฐบาล พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ฉีดวัคซีนล่าช้า เพราะเป็นการจัดซื้อเอง ไม่ได้รับบริจาคเหมือนบางประเทศ พร้อมยืนยันว่าน้ำยาสำหรับตรวจเชื้อโควิดมีเพียงพอ ไม่ได้มีปัญหาอะไร
อย่างไรก็ตาม การนำเข้าวัคซีนของเอกชนจะยังคงมีปัญหาอยู่ ในเรื่องของการนำเข้าและสั่งซื้อจากประเทศต้นทาง แม้ว่ารัฐบาลพยายามจะลดขั้นตอน แต่ต่างประเทศยังมีมาตรฐานของขั้นตอนอยู่ ขณะเดียวกันในเดือนเมษายนนี้จะมีวัคซีนที่รัฐจัดหาเข้ามาอีก 1.5 ล้านโดส ซึ่งจะกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ส่วนวัคซีนที่เหลือจะทยอยเข้ามาตามลำดับ เว้นแต่จะมีปัญหาที่ต้นทาง โดยตั้งเป้าต้องฉีดให้ได้ อย่างน้อย 45 ล้านคนทั้งประเทศ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้ คือการที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 200-400 คน แต่ยังสามารถควบคุมได้ โดยการค้นหาผู้ติดเชื้อ และนำมารักษา และมีการเตรียมสถานที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม รวมถึงการจัดให้สถานที่กักกันตัวทางเลือก หรือ ASQ เพื่อเป็นสถานที่รองรับการถ้าระบาดที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ขอให้ระมัดระวังตนเองให้มากที่สุด ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยงและสถานที่อโคจร ซึ่งตนคงไม่สามารถสั่งห้ามใครได้ จึงจำเป็นต้องสั่งปิดสถานบริการเหล่านี้ เพื่อความปลอดภัย
"เรื่องนี้เปรียบเหมือน ไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไก่ คือใครจะไปไหนมา ก็รู้ตัวกันอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถไปห้ามได้ ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล วันนี้ผมคิดว่ามีบทเรียนพอสมควร หยุดกันสักที ใครเป็นก็รักษา ไม่ว่าเป็นใครทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเป็นบทเรียนอันหนึ่ง สถานที่อโคจรก็ไม่ควรไป นายกฯ ไม่เคยไปไหนเลยมาหลายปีแล้ว 10 กว่าปีแล้ว แต่อย่าไปเปรียบกับสมัยหนุ่มๆ คนละเรื่องกัน" นายกรัฐมนตรีกล่าว
ส่วนที่มีการเปิดเผยข้อมูล "ไทยคู่ฟ้าคลับ" ว่าคนในรัฐบาลนิยมใช้สถานบันเทิงเป็นที่ประชุมงานนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เตรียมให้ทีมกฎหมายไปดูการกล่าวหาของบุคคลที่ออกมาพูดว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งมีความจำเป็นต้องดูในเรื่องนี้ เพราะมีการใช้คำว่า "ไทยคู่ฟ้า" ไปเปรียบเทียบกับอย่างอื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควร
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า หลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในหลายพื้นที่ขณะนี้ ส่งผลทำให้แผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ เมื่อไม่สามารถทำได้ก็ยังไม่ดำเนินการ เพราะแผนหากจะใช้ได้จริง ก็ต้องมีการออกเป็นคำสั่ง ซึ่งจะต้องดูที่ต่างประเทศด้วย ทั้งการฉีดวัคซีน พาสปอร์ตวัคซีน เส้นทางการบิน ว่าเรื่องเหล่านี้ต่างประเทศมีความพร้อมหรือไม่ ดังนั้นไทยจึงต้องเตรียมวัคซีนให้เพียงพอกับพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว เช่น จ.ภูเก็ต แต่ถ้ารอบบ้านยังเปิดประเทศไม่ได้ ไทยก็ยังไม่สามารถดำเนินการเปิดได้ การทำทุกอย่างจึงต้องมีจุดกึ่งกลางเสมอ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้รายงานการทำงานในส่วนของกระทรวงมาตลอด แม้จะอยู่ในช่วงกักตัวเองที่บ้าน เช่นเดียวกับรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่มีการรายงานเข้ามาด้วยการวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์
"ทุกคนทำงานและมีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาไหน ความรับผิดชอบอยู่ที่ตัวเองเสมอ ซึ่งรวมถึงผมด้วย ที่มีแนวคิดแบบนี้ และทำงานมาตลอดไม่เคยหยุด ดังนั้นทุกคนต้องมาร่วมรับผิดชอบเหมือนกัน เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบ"นายกรัฐมนตรีกล่าว
ด้านนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาครัฐมีการจัดเตรียมวัคซีนที่ให้บริการประชาชนไว้ประมาณ 70 ล้านโดส สามารถฉีดได้ประมาณ 35 ล้านคน แต่ยังมีความต้องการวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชานอีก 5 ล้านคน หรืออีกประมาณ 10 ล้านโดส เพื่อที่จะสามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ จึงจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชน
โดยในการประชุมวันนี้ ทางนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เสนอตัวว่ามีความสามารถในการจัดหาวัคซีนได้ เพียงแต่ต้องการให้ภาครัฐช่วยอำนวยความสะดวกให้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด โดยให้นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน หารือร่วมกับองค์การอาหารและยา (อย.) และผู้อำนวยการสถาบันวัคซีน ไปหาข้อสรุปและเสนอมายังนายกรัฐมนตรีภายใน 1 เดือน