สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี "สงกรานต์ในยุคโควิด-19" กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,324 คน สำรวจวันที่ 3-9 เมษายน 2564 พบว่า ในปีนี้ที่มีโควิด-19 ระบาด ประชาชนจะไม่เข้าร่วมงานเทศกาลสงกรานต์ ร้อยละ 43.88 กิจกรรมที่นิยมทำก่อนมีโควิด-19 คือ กลับภูมิลำเนา ร้อยละ 76.52 สิ่งที่ยึดถือปฏิบัติแม้จะมีโควิด-19 คือ การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในครอบครัว ร้อยละ 64.82 ค่าใช้จ่ายในช่วงสงกรานต์ปีนี้คาดว่าจะใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 4,183 บาท และในช่วงที่มีโควิด-19 ระบาดประชาชนก็ยังให้ความสำคัญกับเทศกาลสงกรานต์เหมือนเดิม ร้อยละ 57.63 ถึงแม้จะมีโควิด-19 แต่วันสงกรานต์ยังเป็นเทศกาลที่ประชาชนให้ความสำคัญและใช้เวลากับครอบครัว สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมประเพณีไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันมายาวนาน โดยในปีนี้ถึงแม้มีวันหยุดหลายวัน แต่ประชาชนก็คาดการณ์ว่าจะใช้จ่ายไม่มากนัก เพราะยังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ และยังมีความไม่แน่นอนจากสภาวการณ์โควิด-19 ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเร่งบริหารงานด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนมั่นใจ กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว
ด้านดร.วรานี เวสสุนทรเทพ รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตสุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า เทศกาลสงกรานต์ในปี 64 นี้ คนไทยก็ยังต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ เพราะตัวเลขของผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยภาพรวมของเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ประชาชนยังคงเดินทางกลับภูมิลำเนา เนื่องจากปีที่แล้วถูกงด และรัฐบาลไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์ ซึ่งอาจช่วยให้เศรษฐกิจในช่วงเทศกาลนี้หมุนเวียนขึ้นมาบ้าง
ในส่วนของการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ยังคงมีการทำบุญที่วัด สรงน้ำพระ แต่ละวัดต้องมีมาตรการโควิด-19 อย่างเข้มงวด เว้นระยะห่าง ล้างมือ และอีกหลายๆ มาตรการ การสืบทอดและฉายภาพของวัฒนธรรมไทยมีการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ทำบุญที่วัดใกล้บ้าน การจัดนิทรรศการประเพณีสงกรานต์ และหน่วยงานภาคเอกชน เช่น ห้างสรรพสินค้าได้มีการจัดกิจกรรมที่จะฉายภาพประเพณีของแต่ละท้องถิ่นให้คนเข้าชม และที่สำคัญประชาชนนิยมใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น ในการรดน้ำอวยพรทั้งทางไลน์ เฟซบุ๊ก วันหยุดยาวนี้จึงเชื่อได้ว่าจะนำพาความสุขและกลิ่นอายของความสดชื่นจากเทศกาลสงกรานต์อย่างแน่นอน