นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2564 (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 2 วันของการรณรงค์ (10-11 เม.ย. 64) เกิดอุบัติเหตุรวม 705 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 56 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 729 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 40 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ นครศรีธรรมราช (27 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ (จังหวัดละ 4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี (จังหวัดละ 31 คน)
สำหรับในวันที่ 11 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการรณรงค์ "สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด" พบว่า เกิดอุบัติเหตุ 357 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 30 ราย ผู้บาดเจ็บ 374 คน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว 34.45% ดื่มแล้วขับ 24.37% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 87.12% ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 58.26% ถนนกรมทางหลวง 39.94% ถนนใน อบต./หมู่บ้าน 41.18% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. 26.89% ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป 31.93%
ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,916 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 59,518 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 330,653 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 61,702 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 15,661 ราย ไม่มีใบขับขี่ 17,025 ราย
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช ร้อยเอ็ด (จังหวัดละ 16 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ตรัง สมุทรปราการ (จังหวัดละ 3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (20 คน)
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันฯ ในฐานะเลขานุการ ศปถ. เปิดเผยว่า แม้วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางถึงจุดหมายแล้ว แต่ยังคงมีการใช้รถใช้ถนนบนเส้นทางสายรอง เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด ถนน อบต.และหมู่บ้าน รวมถึงอยู่ในช่วงของการสังสรรค์และเฉลิมฉลอง ศปถ. จึงได้ประสานจังหวัดคุมเข้มปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนบนเส้นทางสายรอง เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด ถนน อบต.และหมู่บ้าน โดยปรับแผนการจัดตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ และด่านชุมชนให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุ พร้อมเพิ่มความเข้มข้นในการเรียกตรวจความพร้อมทั้งคนและรถ โดยเฉพาะผู้ใช้รถจักยานยนต์ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับ และตรวจความพร้อมของผู้ขับขี่ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป การคาดเข็มขัดนิรภัยและสวมหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐาน เพื่อลดอัตราการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต