ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,767 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,477 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 288 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย มาจากปากีสถาน และแคนาดา
- เสียชีวิต 2 ราย รายแรกเป็นพระสงฆ์ อายุ 54 ปี มีโรคประจำตัว โรคไตเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ขณะที่ป่วยอยู่ในกรุงเทพมหานคร วันที่ 12 เม.ย.มาด้วยอาการเหนื่อยหอบและหมดสติ เจ้าหน้าที่จึงส่งตัวไปโรงพยาบาล แพทย์ทำการฟื้นคืนชีพ ไม่ดีขึ้นและเสียชีวิตในวันเดียวกันจากนั้นตรวจพบเชื้อโควิด-19 ส่วนอีกรายเป็นหญิงไทยอายุ 70 ปี โรคประจำตัว เอสแอลอี รูมาตอยล์ และโรคไตเรื้อรัง ขณะป่วยอยู่กรุงเทพมหานคร วันที่ 5 เม.ย.มีอาการไข้ หายใจลำบาก วันที่ 12 เม.ย.อาการไม่ดีขึ้น ไปรักษาในโรงพยาบาล เอ็กซเรย์ปอดพบว่า มีปอดอักเสบและมีผลตรวจยืนยันเป็นไวรัสโควิด-19 วันที่ 17 เม.ย.อาการแย่ลงไม่ตอบสนองการรักษา และเสียชีวิตลง
ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 42,352 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 18,850 ราย ตรวจคัดกรองเชิงรุก 20,268 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,234 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 28,683 ราย เพิ่มขึ้น 113 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 101 ราย
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.ระบุว่า มี 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นนทบุรี และสมุทรปราการ มีจำนวนผู้ป่วยสะสมเกิน 500 คนแล้ว โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่มีผู้ป่วยใหม่ เลข 3 หลักมาตลอดตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. ทำให้เกิดความต้องการเตียงจำนวนมาก ซึ่งกระจุกตัวใน 6 จังหวัดมากทีเดียว จึงได้ช่วยกันลดจำนวนการติดเชื้อให้ได้
"การรายงานประจำวัน จาก 1,500 ก็เป็น 1,700 ในวันนี้ ก็เกิดขึ้นจากหลายจังหวัด เป็นสีแดงกันหมดก็คือจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ฝากทุกจังหวัด ทั้ง 77 จังหวัด ..เรายังต้องการความร่วมมือ วันนี้เป็นวันที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัดสีแดงนี้ และจังหวัดที่เหลือก็เป็นพื้นที่ควบคุม ขอให้ร่วมด้วยช่วยกัน ไทยเราต้องชนะ"โฆษก ศบค.กล่าว
ส่วนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 141,300,538 ราย เสียชีวิต 3,023,813 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 32,372,119 ราย อันดับสอง อินเดีย 14,782,461 ราย อันดับสาม บราซิล 13,900,134 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,260,182 ราย และอันดับห้า รัสเซีย 4,693,469 ราย โดยประเทศไทย ยังคงอยู่ในอันดับที่ 109