นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ว่า วันนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,767 ราย โดยการระบาดในวันที่ 4-8 เมษายน อาร์ศูนย์ (R0) หรือความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อจาก 1 คน ไปสู่คนอื่นๆ อยู่ที่ 2 กว่าๆ แต่หลังมีมาตรการปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ พบว่าอัตราการแพร่ระบาด อาร์ศูนย์อยู่ที่ 1.6 ดังนั้นแนวโน้มการระบาดเริ่มชะลอ ดูเหมือนแนวโน้มจะควบคุมสถานการณ์ได้ ทั้งนี้การระบาดส่วนใหญ่อยู่ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เชียงใหม่ นครสวรรค์ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ส่วนจังหวัดอื่นๆ มีการติดเชื้ออยู่ในวงจำกัดเล็กๆ ค่อยๆลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม เราต้องการขอความร่วมมือจากประชาชนอีกหลายประการ ถ้าร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทางระบาดวิทยาคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์ ตัวเลขจะค่อยๆ ลดลง แต่ช่วงนี้อาจจะมีตัวเลขสูงเล็กน้อยและจะค่อยๆทรงๆ
นพ.โอภาส กล่าวว่า การระบาดรอบนี้เริ่มจากสถานบันเทิงติดเชื้อแล้วแพร่กระจายไปที่บ้าน คนในครอบครัว และในที่ชุมชน อย่างกรณีคุณครูติดเชื้อ แล้วไปติดที่ทำงาน และไปติดนักเรียน จะเห็นว่ากระจายไปสถานที่ทำงานค่อนข้างมาก ในกลุ่มก้อนนี้ติดไป 32 คน ซึ่งรอบนี้มีนักเรียนติดเชื้อ แต่ในเด็กนักเรียนมักไม่ค่อยมีอาการ ซึ่งครอบครัวไทยมีปู่ย่าตายายอยู่ร่วมกัน ซึ่งก็จะอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก แต่ที่เราห่วงคือผู้สูงอายุ ฉะนั้นก็ต้องระมัดระวังอย่าให้เด็กใกล้ชิดผู้สูงอายุ และเป็นเหตุผลที่สั่งปิดสถานศึกษา
"สรุปสถานการณ์ยังพบผู้ป่วยเพิ่มอย่างต่อเนื่องแต่แนวโน้มการระบาดเริ่มชะลอตัวลง ผู้ป่วยอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นเพราะมีการติดเชื้อจำนวนมาก และการระบาดในโรงเรียน องค์กร สถานประกอบการ สิ่งสำคัญคือช่วยร่วมมือกัน ลดผู้ติดเชื้อคือมาตรการส่วนบุคคล ทั้งผู้สูงอายุก็ควรหลีกเลี่ยง รวมทั้งมาตรการองค์กร
ตอนนี้ Work from Home จะเป็นมาตรการสำคัญ เพราะว่าหลังจากสงกรานต์ เชื่อว่าวันจันทร์คนจะกลับเข้าสถานที่ทำงานจำนวนมาก ดังนั้นขอให้มีมาตรการ Work from Home และคัดกรอง ในสถานที่ทำงานจุดเสี่ยงคือการไม่สวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะตอนกินข้าว ดังนั้น หากเป็นไปได้ขอให้งดกิจกรรมรวมกลุ่ม งานเลี้ยงสังสรรค์ห้ามมีเด็ดขาด สวมหน้ากากอนามัยบ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้ แยกภาชนะกัน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน" นพ.โอภาส กล่าว
สำหรับวัคซีนโควิด-19 นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้ได้มาทั้งหมด 1 ล้านโดสกระจายไป 77 จังหวัด ฉีดไปแล้ว 608,521 โดส โดยมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 526,706 ราย และวัคซีนครบ 2 เข็มจำนวน 81,815 ราย ส่วนอีก 1 ล้านโดส ของซิโนแวคได้มีการตรวจรับและกระจายลงไปยังจังหวัดต่างๆ เรียบร้อยแล้ว และเนื่องจากขณะนี้มีการแพร่ระบาดโควิด-19 แบ่งการฉีด ดังนี้ 1. จำนวน 599,800 โดส ฉีดให้บุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศให้ครบ 100% ภายใน 1 เดือน 2.จำนวน 1 แสนโดส ให้ประชาชที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมโรคระบาดในพื้นที่สีแดง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล 3.จำนวน 147,200 โดส ฉีดให้ประชาชนที่มีโรคประจำตัว 4.จำนวน 54,320 โดส ฉีดให้ที่มีเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสพบเจอคนจำนวนมาก เช่น ทหาร ตำรวจ บุคลากรด่านหน้า รวมถึง ส.ส. ก็อยู่ในกลุ่มนี้ และ 5.จำนวน 1 แสนโดส สำรองไว้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน
ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์มีอยู่ 5 แสนเม็ด เพียงพอต่อการใช้ช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สั่งซื้อเพิ่มอีก 1 ล้านเม็ด และให้มีการเจรจาซื้อเพิ่ม 1 ล้านเม็ด คาดส่งมอบได้ในปลายเดือนเม.ย.หรือต้น พ.ค.