ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,390 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,058 ราย
-จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 326 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 6 ราย เดินทางมาจากประเทศมาเลเซีย 2 ราย บาห์เรน 2 ราย อินเดีย 1 ราย และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย
- เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย โดยรายแรก เป็นชายไทย อายุ 56 ปี อาชีพพนักงานเสริฟในสถานบันเทิง กรุงเทพฯ มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง และเส้นเลือดในสมองตีบ โดยได้กลับไปบ้านที่บุรีรัมย์เมื่อวันที่ 7 เม.ย. และวันที่ 13 เม.ย.มีอาการไอ และนอนพักอยู่ที่บ้าน จากนั้นวันที่ 17 เม.ย. มีอาการเหนื่อยมากขึ้น หายใจติดขัด ต้องให้รถพยาบาลมารับเข้า รพ. ต่อมามีอาการแย่ลง และผลยืนยันพบเชื้อโควิด เสียชีวิตในวันที่ 18 เม.ย.
"การสัมผัสใกล้ชิดกับคนในครอบครัว และไม่ทันได้ระมัดระวัง พอเป็นคนในครอบครัวที่เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว จะทำให้อาการทรุดเร็ว และเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงขอเน้นย้ำให้ต้องระมัดระวัง การแพร่เชื้อไปสู่บุคคลใกล้ชิดด้วย" พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าว
นอกจากนี้ มีรายงานข้อมูลล่าสุดในช่วงวันที่ 1-18 เม.ย. 64 ว่าบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 รวมแล้ว 146 คน โดยในจำนวนนี้ 33 คน เป็นการติดเชื้อโควิดจากการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา แต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลไทม์ไลน์ที่แท้จริง รองลงมา เป็นการติดเชื้อจากผู้ใกล้ชิดในครอบครัว
ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 43,742 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 19,908 ราย ตรวจคัดกรองเชิงรุก 20,594 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,240 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 28,787 ราย เพิ่มขึ้น 104 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 104 ราย
พญ.อภิสมัย ยังกล่าวด้วยว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ แม้วันนี้ยอดจะลดลงจากวันก่อนหน้า แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะหากยังใช้ชีวิตโดยไม่ระมัดระวัง ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศก็มีโอกาสจะกลับมาสูงขึ้นอีกได้ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยพบการรายงานผู้ติดเชื้อโควิดครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว พญ.อภิสมัย ย้ำว่า การยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคล่าสุด ตามที่ศบค. กำหนดไว้ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก โดยมุ่งที่จะลดการทำกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ลดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อจากบุคคลไปสู่บุคคล แต่อย่างไรก็ดี กิจกรรมใดที่ยังจำเป็นจะต้องดำเนินการ ก็ยังสามารถทำได้ตามความจำเป็น เช่น การจัดงานศพ เพียงแต่ขอความร่วมมือไปยังทุกจังหวัด ถ้ากิจกรรมใดสามารถชะลอไว้ได้ ก็ควรชะลอการจัดงานไว้ก่อน อย่าให้มีการรวมตัวกันเกิน 50 คน ขณะเดียวกัน ยังขอความร่วมมือให้ทุกฝ่ายลดความขัดแย้ง และไม่กล่าวโทษผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เพราะไม่ได้ช่วยทำให้การติดเชื้อลดลง แต่สิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติ คือ การรักษามาตรการด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ การเว้นระยะห่าง และเลี่ยงเข้าไปในที่ชุมชน เมื่อไปพบปะกับบุคคลใดแล้ว ก็ต้องประเมินด้วยว่าจะมีโอกาสเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงหรือเสี่ยงต่ำหรือไม่ด้วย "อย่าโทษผู้ป่วย เพราะไม่ได้นำไปสู่การติดเชื้อที่ลดลง ตอนนี้เราควรต้องลดความขัดแย้ง คนไทยทุกคนควรร่วมมือกัน โดยเริ่มจากมาตรการส่วนบุคคล ทั้งเรื่องการเว้นระยะห่าง การล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย เพราะขณะนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นสิ่งที่ท่านไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้" พญ.อภิสมัยระบุ ศบค. ยังได้มีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ทราบผลว่าติดเชื้อโควิด-19 ในการเตรียมตัวก่อนเข้าโรงพยาบาล ดังนี้
1.ประเมินอาการป่วยที่อาจจะรุนแรงขึ้นด้วยตนเอง เช่น มีไข้เกิน 37.5 องศา หายใจหอบเหนื่อยมากขึ้น หลังออกกำลังกายเกิน 6 นาทีในท่านอนปั่นจักรยาน ถ่ายเหลวมากกว่า 5 ครั้ง เป็นต้น ควรโทรแจ้งสถานพยาบาล หรือสายด่วน 1668, 1669, 1330
2.เตรียมเอกสาร บัตรประชาชน และผลตรวจโควิด
3.แยกกักจากสมาชิกในครอบครัว แยกของใช้ อาหาร ที่นอน
4.สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
5.งดพูดคุยเสียงดัง และงดทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว
ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินจากสถานพยาบาลว่ามีความรุนแรงของอาการป่วยอยู่ในระดับใด ซึ่งหากเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จะถูกส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลปกติ ส่วนผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง จะส่งไปอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม และผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ จะส่งไปอยู่ที่ Hospitel
"การจัดเตรียมเตียงใน รพ.สนาม จะใช้ในผู้ป่วยที่ยังแข็งแรงดี เนื่องจากเตียงใน รพ.ปกติ จะต้องสำรองไว้ให้สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง และจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ขอย้ำว่าจะไม่ให้มีคนป่วยต้องเสียชีวิตในระหว่างการรอเตียง" พญ.อภิสมัยกล่าว
สำหรับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 141,999,278 ราย เสียชีวิต 3,032,862 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 32,404,454 ราย อันดับสอง อินเดีย 15,057,767 ราย อันดับสาม บราซิล 13,943,071 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,289,526 ราย และอันดับห้า รัสเซีย 4,702,101 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 109
โดยยังต้องจับตาใกล้ชิดในกรณีของประเทศอินเดียที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มต่อเนื่อง, มาเลซีย ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเกินพันต่อเนื่องมายาวนาน และกัมพูชา ที่ระบบสาธารณสุขเริ่มมีปัญหา ทำให้การรองรับผู้ติดเชื้อไม่มีประสิทธิภาพ