นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกรรมการบริหาร ส.อ.ท.วานนี้ (19 เม.ย.) มีวาระเร่งด่วนเพื่อหารือเรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาโควิด-19 โดยเห็นว่าการฉีควัคซีนให้รวดเร็วและครอบคลุม จะช่วยป้องกันและลดจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศได้ แต่การขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนยังคงประสบปัญหาคอขวดด้วยกัน 4 ประการ ได้แก่ 1. จำนวนวัคซีนที่ไม่พอเพียงต่อจำนวนประชากรในประเทศ 2. การฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างล่าช้า เนื่องจากบุคคลากรที่สามารถฉีดได้ไม่พอเพียง (บุคคลากร และสถานที่) ปัจจุบันมีเพียงแพทย์และพยาบาลเท่านั้นที่สามารถฉีดวัคซีนได้ 3. ปัญหาเรื่องการกระจายวัคซีน 4. การสร้างความเชื่อมั่นหลังการฉีดวัคซีน
โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. ได้ร่วมกันระดมความคิดเพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาไว้ดังนี้
1. ปัญหาด้านจำนวนวัคซีนที่ไม่พอเพียงต่อจำนวนประชากรในประเทศ โดย ส.อ.ท. เสนอให้ภาครัฐเปิดกว้างให้ภาคเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนได้ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงวัคซีนด้วยความรวดเร็ว รวมถึงลดภาระการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐ
2. ปัญหาด้านอัตราการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างล่าช้า เนื่องจากบุคคลากรที่สามารถฉีดได้ไม่พอเพียง (บุคคลากร และสถานที่) ส.อ.ท. จำแนกปัญหาออกเป็น 2 ส่วนหลักคือ ด้านบุคคลากรที่สามารถฉีดวัคซีนมีไม่เพียงพอ และสถานที่ใช้ฉีดมีจำนวนจำกัด ดังนั้น ส.อ.ท. จึงเสนอแนวทางดังนี้
ด้านบุคคลากร เสนอให้ภาครัฐเร่งผลิตบุคคลากรที่สามารถดูแลการฉีดวัคซีนได้เฉพาะกิจ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงแพทย์และพยาบาลที่เป็นวิชาชีพที่สามารถฉีดวัคซีนได้ โดยอบรมนักศึกษาแพทย์ / เภสัชกร ให้สามารถทำการฉีดวัคซีนและสังเกตุอาการก่อนฉีด และหลังฉีดได้ โดยส.อ.ท.ร่วมกับแพทยสภา จัดการฝึกอบรมออนไลน์ด้วยแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญผ่านแพลตฟอร์ม FTI Academy เพื่อเพิ่มบุคคลากรที่สามารถทำการฉีดวัคซีนดังกล่าวได้
เพิ่มสถานที่ในการบริการการฉีดวัคซีน โดยส.อ.ท. ได้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีพื้นที่สำหรับจัดเป็นจุดฉีดวัคซีนเพิ่มเติมดังนี้ ปั้มน้ำมันบางจากทั่วประเทศ (1,200 กว่าสถานี) และโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยส.อ.ท.จะทำการประสานโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศให้จัดพื้นที่ภายในโรงงานให้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีน
3. ปัญหาด้านการกระจายวัคซีน ส.อ.ท. เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาแผนการกระจายวัคซีน เพื่อช่วยภาครัฐในการวางแผนการกระจายวัคซีนให้อย่างรวมเร็วและมีประสิทธิภาพ
4. ปัญหาด้านการสร้างความเชื่อมั่นหลังการฉีดวัคซีน ส.อ.ท. เสนอให้จัดทำแพลตฟอร์มวัคซีนพาสปอร์ต เพื่อใช้สำหรับการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประเทศ
"การแก้ปัญหาโควิด-19 เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกัน ส.อ.ท. มีความพร้อมในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงของการแพร่ระบาด รวมถึงการผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าในการฟื้นฟูประเทศได้อย่างรวดเร็ว" นายสุพันธุ์ กล่าว