นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครเตรียมแผนปรับปรุงและพัฒนาสวนลุมพินี ในโอกาสครบรอบ 100 ในปี พ.ศ. 2568 ซึ่ง "สวนลุมพินี" เป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร จัดสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชน เริ่มเปิดบริการในปี 2548 นับเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ มีขนาดพื้นที่ 360 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตปทุมวัน ซึ่งเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจ CBD (Central Business District) ของกรุงเทพมหานคร ล้อมรอบด้วยอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม ภายในสวนลุมพินี มีลักษณะการใช้งานแบบเอนกประสงค์ เป็นที่ตั้งของศูนย์นันทนาการ สมาคม ชมรมต่าง ๆ ล้อมรอบด้วยพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ เปรียบเสมือน "ปอด" สำคัญของคนเมือง มีต้นไม้ขนาดใหญ่อายุเก่าแก่ให้ความร่มรื่นรายล้อมอยู่ทั่วบริเวณ มีสระน้ำกว้างใหญ่ ดอกไม้นานาพันธุ์ สวนป่า และสถานที่สำคัญต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละวันมีประชาชนเข้ามาใช้บริการภายในสวนสาธารณะเป็นจำนวนมาก โดยเฉลี่ยในวันจันทร์-ศุกร์ ประมาณ 10,000 คนต่อวัน และในวันเสาร์-อาทิตย์ ประมาณ 15,000 คนต่อวัน
จากการสำรวจสภาพปัจจุบันของสวนลุมพินี พบว่าอาคารสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ ภายใน รวมถึงระบบสาธารณูปโภค มีสภาพชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา การจัดพื้นที่ใช้สอยและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ยังไม่สามารถตอบสนองกับการใช้งานตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป กรุงเทพมหานคร จึงเตรียมที่ปรับปรุงและพัฒนาสวนลุมพินีครั้งใหญ่ เพื่อเฉลิมฉลองสวนลุมพินีครบรอบ 100 ปี ในปี 2568 ให้เป็นสวนสาธารณะระดับโลกที่สร้างสรรค์และทันสมัย สามารถรองรับการใช้ประโยชน์ในทุกมิติ
พร้อมกับสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของกรุงเทพมหานคร และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ดึงดูดให้คนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ได้มาเช็คอินและถ่ายรูปสวย ๆ ซึ่งการปรับปรุงสวนลุมพินีในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่สีเขียวกลางใจเมืองให้เกิดการใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ โดยแสดงอัตลักษณ์ด้านสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครให้เป็นมากกว่าสวน แต่เป็นภาพลักษณ์ของประเทศ ที่สามารถรองรับการจัดกิจกรรมระดับเมือง และระดับชาติได้ พร้อมทั้งส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานคร
การปรับปรุงในครั้งนี้ ได้ดำเนินการตามแนวคิดในการออกแบบเพื่อพัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะในทุกมิติ ครอบคลุมอัตลักษณ์ของเมือง 5 ด้าน คือ
1. คุณค่าแห่งประวัติศาสตร์ (History)
2. คุณภาพทางวัฒนธรรม ศิลปะ การแสดง และแหล่งเรียนรู้รูปแบบต่างๆ (Cultural Integration)
3. การพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับเมือง เพื่อตอบรับสภาวะโลกร้อน (Climate Action Park)
4. สร้างพื้นที่กิจกรรมที่ทันสมัยและหลากหลายเข้ากับยุคสมัย (Modern Recreation)
5. ตอบโจทย์การใช้งานตามรูปแบบมาตรฐานของการออกแบบ หรือ Universal Design ในการให้บริการในทุกส่วนของสวนลุมพินี (Inclusive For All)
โดยจะแบ่งการปรับปรุงออกเป็น 3 เฟส ได้แก่ เฟสที่ 1 เป็นการปรับปรุงโครงการพื้นฐาน และสาธารณูปโภคในสวนให้แล้วเสร็จในเฟสแรก เช่น งานระบบท่อและงานระบายน้ำใต้ดิน ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และท่อระบายน้ำบางส่วนไม่เชื่อมกับทางระบายน้ำ รวมถึงปัญหาน้ำเน่าเสียในบึงอีกด้วย นอกจากนี้ ยังดำเนินการปรับปรุงงานระบบไฟฟ้าส่องสว่าง งานปรับทางเดิน-วิ่ง และงานปรับปรุงอาคารที่ทรุดโทรม
เฟสที่ 2 จะเน้นการพัฒนาพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย และ เฟส 3 เป็นการพัฒนาพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการออกแบบและพัฒนาพื้นที่ ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกชาวไทย ซึ่งมีผลงานออกแบบระดับโลกเป็นผู้ให้แนวคิดและออกแบบ
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้มาใช้บริการและภาคเอกชนบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงและพัฒนาสวนลุมพินีครั้งนี้ ให้เป็นสวนสาธารณะระดับโลก ที่สร้างสรรค์และทันสมัย รองรับไลฟ์สไตล์คนเมืองกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ และรองรับการจัดกิจกรรมหลักเมือง และระดับชาติ ได้อย่างภาคภูมิใจ
"การปรับปรุงสวนลุมพินีในครั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในการใช้บริการสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ การออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ ช่วยกันดูแลรักษาสภาพแวดล้อม รวมทั้งการรักษาสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุกคนต้องช่วยกันไม่ทำให้สวนสาธารณะเสียหาย เพื่อให้กรุงเทพมหานครมีสวนสาธารณะที่สวยงาม ให้พวกเราทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันตลอดไป" รองปลัดฯ กทม. กล่าว