น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุข พ.ศ.2563-2565 เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติทางธรรมชาติแบบบูรณาการที่ครบวงจรและมีเอกภาพ
โดยกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เผชิญกับโรคและภัยพิบัติธรรมชาติอย่างรุนแรงในหลายรูปแบบ ทั้งแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ อุทกภัย รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ รวมถึงเป็นปัญหาทางสังคมและการเมืองของประเทศด้วย จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าวขึ้นมาให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฟื้นฟูหลังเกิดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ได้กำหนดวิสัยทัศน์ตามแผนฯ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
ยุทธศาสตร์แรก ส่งเสริมการลดความเสี่ยงต่อสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน ได้แก่ สร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่ายความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึงสร้างองค์ความรู้ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉิน, จัดทำระบบบริหารความต่อเนื่อง ที่สามารถสนับสนุนบุคลากรและทรัพยากรแก่การจัดการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 บูรณาการระบบและให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัยอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ พัฒนาระบบสื่อสารในภาวะฉุกเฉินและเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลการประเมินสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันและเชื่อถือได้, พัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรในการจัดการภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัย ระบบบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูด้านการแพทย์และการสาธารณสุขหลังเกิดสาธารณภัย โดยร่วมกับหน่วยงานภาคีในระดับปฏิบัติการพื้นที่พัฒนาระบบปฏิบัติการฟื้นฟูด้านการแพทย์และการสาธารณสุขให้สอดคล้องกับแนวทางการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาศักยภาพและกลไกการบริหารจัดการเชิงบูรณาการทางการแพทย์และการสาธารณสุขระหว่างประเทศในภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ พัฒนาขีดความสามารถ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุข, เสริมสร้างทักษะและความชำนาญของเครือข่ายด้านการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และการสาธารณสุข และส่งเสริมมาตรฐานความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการความเสี่ยง
สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้ดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์รวมทั้งสิ้น 588.41 ล้านบาท โดยแหล่งเงินที่จะใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการในปี 2563-2565 ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการจัดทำแผนงบประมาณที่สอดรับกับแผนปฏิบัติการดังกล่าวเพื่อเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของแต่ละหน่วยงานต่อไป