นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมรับมือโรคโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่า ขณะนี้สถานการณ์มีการติดเชื้อไปทั่วประเทศ โดยมีประมาณ 20 จังหวัดที่มีการระบาดมาก แต่มากกว่าครึ่งสามารถรับมือและควบคุมได้ คาดว่าปลายสัปดาห์นี้จะเริ่มเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงจากการใช้มาตรการควบคุมโรคและมาตรการทางสังคมต่างๆ ที่ภาครัฐประกาศออกมา
สำหรับการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ ปลัด สธ. กล่าวว่า เนื่องจากส่วนใหญ่การระบาดเป็นสายพันธุ์ใหม่คือ สายพันธุ์ B 1.1.7 หรือสายพันธุ์อังกฤษ จึงต้องดูแลผู้ติดเชื้อ 14 วัน จากเดิมที่ดูแลผู้ติดเชื้อเพียง 10 วัน ทำให้ต้องใช้เตียงนานขึ้น ประกอบกับมีข้อมูลปรากฏว่าการระบาดรอบนี้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก คนไข้หนักก็เริ่มเห็นมากขึ้น จึงต้องเตรียมความพร้อมเตียงไอซียู โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำคู่มือการประเมินความพร้อมในด้านต่างๆ เป็นแนวปฏิบัติให้ทุกโรงพยาบาลได้สำรองและเตรียมอุปกรณ์/ เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ไว้อย่างเพียงพอ
"ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์รักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 เดิมเรามีประมาณ 6-7 แสนเม็ด ถือว่ามีเยอะ เนื่องจากขณะนั้นมีผู้ติดเชื้อน้อย แต่ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น นักวิชาการหลายคนเห็นว่าควรให้ยาเร็วขึ้นเพื่อลดอาการปอดอักเสบ จึงทำให้มีการใช้ยาเพิ่มมากขึ้นไปอีก จากการใช้วันละไม่กี่เม็ด เพิ่มเป็นวันละ 2 หมื่นเม็ด ขณะนี้ได้สั่งซื้อยามาอีก 2 ล้านเม็ดเพื่อรองรับสถานการณ์แล้ว กระจายยาอย่างทั่วถึงเพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดยา และสั่งซื้อยาฉีดเรมดิซีเวียร์เพิ่มเช่นกัน" ปลัด สธ.กล่าว
พร้อมระบุว่า ในวันที่ 21 เม.ย.นี้ จะกระจายวัคซีนซิโนแวกล็อต 1 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าประมาณเกือบ 6 แสนโดส หรือประมาณ 3 แสนคน เร่งรัดการฉีดให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 25 เม.ย.นี้ จะทำให้การฉีดวัคซีนภาพรวมของประเทศไทยเกิน 1 ล้านโดสภายในสัปดาห์นี้ และให้เร่งการฉีดวัคซีนทั้งเข็มแรกและเข็มที่สองในกลุ่มเสี่ยงในทุกจังหวัดด้วยเช่นกัน หากทำได้อย่างรวดเร็วจะส่งวัคซีนลงไปสนับสนุนเพิ่มเติม เนื่องจากยังมีวัคซีนที่จะเข้ามาอีก 5 แสนโดสในวันที่ 24 เม.ย.นี้ และกำลังเจรจานำเข้ามาอีก 1 ล้านโดส จากนั้นจะเป็นการฉีดวัคซีนล็อตใหญ่ของแอสตร้าเซนเนก้าต่อไป