กรมชลประทาน ระบุว่า การบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 63/64 เป็นไปตามแผน โดยยืนยันมีปริมาณน้ำเพียงพอสำรองต้นฤดูฝนปี 64 พร้อมสั่งการทุกโครงการชลประทานเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนหน้าที่กำลังจะมาถึง โดยจะเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำในทุกช่วงเวลาให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อลดผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ คงเหลือการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งอีกเพียงไม่กี่วันก่อนจะปรับเข้าสู่การบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนปี 64 ซึ่งเริ่มเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป โครงการชลประทานทั่วประเทศเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยซ้ำซาก กำหนดเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนประชาชน การจัดสรรทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เข้าไปประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที รวมทั้งเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมไปถึงตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ
นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานเร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมทั้งเร่งขุดลอกคลองและแก้มลิง ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ ตามข้อสั่งการของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และเป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์
สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (21 เม.ย.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 36,840 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 48% ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 12,911 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 15,904 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84% ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,044 ล้าน ลบ.ม. หรือ 36% ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 2,348 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,661ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 93% ของแผนฯ เนื่องจากอิทธิพลพายุฤดูร้อนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลให้มีปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำและในแม่น้ำสายหลักเพิ่มมากขึ้น ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย นับได้ว่าภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 63/64 เป็นไปตามแผนที่วางไว้และมีประสิทธิภาพ