นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวการสั่งระงับการฉีดวัคซีนซิโนแวก หลังพบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ คล้ายโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ในจังหวัดลำปางกว่า 40 รายว่า ไม่เป็นความจริง ทั้งนี้พบมีอาการไม่พึงประสงค์แค่ 1 ราย ซึ่งได้หยุดฉีดวัคซีนชั่วคราวเพื่อตรวจสอบให้แน่ชัด และขณะนี้ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนต่อไปแล้ว
ทั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีนได้สรุปผลกรณีบุคลากรทางการแพทย์ 6 รายเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนซิโนแวกว่า มีอาการทางระบบประสาท คล้ายโรคหลอดเลือดสมอง เกิดขึ้นชั่วคราว ผลสแกนสมองไม่พบผิดปกติ หลังรักษาอาการเป็นปกติดี และจากการสอบสวนอย่างละเอียดทั้ง 6 รายมีอาการคล้าย Stroke เช่น แขนขาอ่อนแรง ชา ชาครึ่งซีก แต่ยังบอกไม่ได้แน่ชัดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ส่วนใหญ่เกิดกับสตรีอายุไม่มาก ไม่มีปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน อาการหายภายใน 1-3 วัน จากการสแกน MRI สมองพบว่าปกติ จึงเรียกว่าเป็นอาการทางระบบประสาท เป็นกลุ่มอาการคล้ายหลอดเลือดสมองที่เกิดชั่วคราว
"คณะกรรมการฯ เห็นว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน เนื่องจากเกิดภายในช่วง 5-10 นาที ทั้งนี้จากการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนล็อตดังกล่าวไม่พบความผิดปกติ ไม่มีปัญหาเรื่องมาตรฐานการจัดเก็บวัคซีน ขณะที่วัคซีนล็อตนี้ กระจายไป 5 แสนโดส มีผู้รับวัคซีนแล้วมากกว่า 3 แสนราย ยังไม่พบอาการดังกล่าว จึงต้องติดตามต่อไป โดยคณะกรรมการฯ ลงความเห็นว่าให้ใช้วัคซีนล็อตนี้ต่อไปได้ แต่ให้ระมัดระวัง เนื่องจากประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่าอาการที่เกิดขึ้น" นพ.โอภาส กล่าว
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการดังกล่าวทางองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกว่า Immunization Stress Related Response หรือปฏิกิริยาที่สัมพันธ์กับความเครียดจากการได้รับวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้หญิง อายุไม่มาก เป็นกับวัคซีนหลายล็อต เกิดเร็วหลังฉีดวัคซีน มีอาการระบบประสาท อาการสามารถหายเองกลับมาเป็นปกติได้ และภาพถ่ายเอ็กซเรย์ หรือ MRI ไม่พบความผิดปกติทางกายภาพ
สำหรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนนั้น ไม่ใช่ผลข้างเคียงของวัคซีนหรือการแพ้วัคซีน ซึ่งเป็นระบบเฝ้าระวังที่จะใช้ติดตามผลหลังจากการฉีดวัคซีน เนื่องจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นเรื่องใหม่จึงต้องมีระบบจัดการที่เข้มงวด หากมีอาการไม่รุนแรงก็ไม่เป็นไร แต่หากมีอาการรุนแรง เช่น อาการทางสมอง ผึ่นขึ้นทั้งตัว อาการชัก หมดสติ จะต้องต้องรายงานเข้าสู่คณะกรรมการฯ ที่เป็นนักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคทุกครั้ง โดยจะนำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาประกอบกันก่อนมีคำวินิจฉัย 3 ประการ คือ 1.อาการไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่เป็นอุบัติการณ์ที่เกิดร่วมกัน 2.อาการน่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน 3.อาการเกี่ยวข้องกับวัคซีน
หากสรุปว่าอาการน่าจะเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวข้องกับวัคซีน จะมีคำวินิจฉัยอีก 3 ประการ คือ 1.ให้ฉีดวัคซีนต่อไป แม้จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ แต่สามารถเกิดขึ้นได้ตามปกติ หากเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อเทียบกับจำนวนวัคซีนที่ฉีดไปไม่สูงผิดปกติ ไม่เป็นอันตรายร้ายแรง เกิดประโยชน์มากกว่าการหยุดฉีด 2.หากมีอาการรุนแรงผิดปกติ เป็นอันตรายต่อผู้รับวัคซีน โทษมีมากกว่า ก็จะให้หยุดการฉีดวัคซีนถาวร 3.หยุดฉีดชั่วคราว กรณีเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ หากยังไม่แน่ใจว่าสาเหตุเกิดจากอะไร
"ขั้นตอนการหยุดฉีดถาวร จะมีขั้นตอนการพิจารณา โดยคณะกรรมการพิจารณาเหตุไม่พึงประสงค์ฯ จะติดตามผลต่อเนื่อง หากพบความผิดปกติ จะเสนอความเห็นไปที่คณะอนุกรรมการอำนวยการฉีดวัคซีนให้มีคำสั่งให้หยุดฉีด" นพ.โสภณ กล่าว
ส่วนการจัดหาเพิ่มเพิ่มนั้น คณะกรรมการฯ ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานมีข้อสรุปที่จะมีการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส เพื่อขยายจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นจาก 70 ล้านโดส เป็น 100 ล้านโดส โดยมี 3 แนวทาง คือ ให้ภาครัฐเจรจาจัดซื้อจากผู้ผลิตเพิ่มเติม, หอการค้าไทย บริจาคเงินให้ภาครัฐจัดซื้อเพิ่มเติม เพื่อให้บริการกับกลุ่มเป้าหมายจำนวน 10 ล้านโดส และโรงพยาบาลเอกชนขอจัดหามาให้บริการกลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ต้องอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน มีการเชื่อมโยงข้อมูล และระบบติดตามอาการไม่พึงประสงค์