(เพิ่มเติม) ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 2,070 ราย ในปท.1,902-ตรวจเชิงรุก 160-ตปท.8,ตายเพิ่ม 4

ข่าวทั่วไป Friday April 23, 2021 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 2,070 ราย ในปท.1,902-ตรวจเชิงรุก 160-ตปท.8,ตายเพิ่ม 4

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,070 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,902 ราย
  • จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 160 ราย
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย มาจากประเทสต้นทางอินเดีย 5 ราย ตุรกี ปากีสถาน มาเลเซีย ประเทศละ 1 ราย
  • ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 4 ราย ประกอบด้วย รายแรก เป็นชายไทย อายุ 72 ปี อาศัยอยู่ที่ กทม. ไม่มีโรคประจำตัว มีประวัติการเดินทางไปจังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 9-12 เม.ย. ต่อมาวันที่ 13 เม.ย.มีไข้ ไอ เจ็บคอ ถ่ายเหลว ซึ่งอาการไม่ดีขึ้นพบปอดอักเสบและตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 จากนั้นเหนื่อยหอบและใส่ท่อช่วยหายใจ เสียชีวิต 20 เม.ย.

ผู้เสียชีวิตรายที่ 2 วันนี้ เป็นชายไทยอายุ 74 ปี อยู่ที่จังหวัดสงขลา มีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน เมื่อตรวจพบเชื้อและเข้ารับการรักษาพบปอดอักเสบมากขึ้น หัวใจหยุดเต้น ได้ทำการกู้ชีพและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ผู้เสียชีวิตรายที่ 3 เป็นหญิงไทย อายุ 29 ปี อยู่ที่ จ.สมุทรปราการ มีโรคประจำตัวเป็นโรคอ้วน มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า มีอาการไอ มีเสมหะ หอบเหนื่อย และตรวจพบติดเชื้อ เข้ารับการรักษาในรพ. ต่อมาภาวะหัวใจล้มเหลว ปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรงและเสียชีวิตในวันที่ 22 เม.ย.

ผู้เสียชีวิตรายที่ 4 เป็นชายไทย อายุ 83 ปี อยู่ที่ จ.สมุทรปราการ มีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตเรื้อรัง และโรคหัวใจ มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า วันที่ 8 เม.ย. เข้ารับการตรวจหาเชื้อ และมีอาการไอ มีเสมหะ วันที่ 9 เม.ย.ผลพบเชื้อ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จากนั้นอาการไม่ดีขึ้น ปอดอักเสบรุนแรง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิต 22 เม.ย.

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 50,183 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 25,855 ราย ตรวจคัดกรองเชิงรุก 21,074 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,254 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 30,189 ราย เพิ่มขึ้น 341 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 121 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า เมื่อแยกยอดผู้ติดเชื้อรายจังหวัด สูงที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร มีผู้ติดเชื้อถึง 740 ราย รองลงมาคือ เชียงใหม่ 237 ราย, ชลบุรี 125 ราย, สมุทรปราการ 79 ราย, นครราชสีมา 69 ราย, สมุทรสาคร 48 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ 44 ราย, ปทุมธานี 41 ราย, สุราษฎร์ธานี 38 ราย และระยอง 35 ราย ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ พบว่า มีชาวอินเดียเข้าประเทศไทยและอยู่ในสถานกักกัน จนตรวจพบว่าติดเชื้อถึง 5 ราย

โฆษก ศบค. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กวันนี้ มีความกังวลเกี่ยวกับ การติดเชื้อในสถานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งผู้ช่วยพยาบาลติดเชื้อจากสามีที่เป็นเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แล้วนำเชื้อไปแพร่กับผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุในสถานดูแลผู้สูงอายุ 2 คน ดังนั้น ได้หาหรือว่าผู้ที่ต้องกำกับดูแลสถานพยาบาล จะต้องมีมาตรการสำหรับสถานรับดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และให้เตรียมความพร้อมหากพบผู้สูงอายุติดเชื้อโควิด-19

อีกแห่งคือการติดเชื้อในสถานปฎิบัติธรรม ซึ่งมีการประชุมวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์กับทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีแนวทางว่าจะต้องกำหนดมาตรการสำหรับทุกศาสนา และให้กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดูแลและเพิ่มมาตรการ โดยให้นำตัวอย่างจากที่มีการติดเชื้อในสถานปฎิบัติธรรมที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำไปสู่การป้องกันการติดเชื้อจากกิจกรรมทางศาสนาด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ EOC ของกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือเกี่ยวกับปัญหาบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ที่มีเตียงไอซียู 262 เตียง ขณะนี้เหลือ 69 เตียง และเตียงในห้องแยกความดันลบ 69 เตียง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง โดยมีคาดการณ์การใช้เตียงรองรับผู้ป่วยกรณีมีอัตราการติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ประมาณ 1,500 คนต่อวัน จะทำให้ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ต้องใช้เตียงถึง 10-13 เตียงต่อวัน เท่ากับจะมีเตียงเหลือเพียงพอสำหรับรองรับผู้ป่วย เพียงแค่ 6-8 วันเท่านั้น

ส่วนจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ คาดว่าจะต้องใช้ 52 เตียงต่อวัน ซึ่งจะมีเตียงใช้ได้ประมาณ 19 วัน นอกจากนี้ จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องเพิ่มตามไปด้วย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะนำไปหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยจะต้องมีการเพิ่มเตียงให้มากขึ้น

จากการที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทะลุกว่า 2,000 คนต่อวัน จะส่งกระทบกับเตียงรองรับผู้ป่วยแน่นอน เพราะยังไม่รู้ปลายทางว่าจะเป็นอย่างไร จึงต้องระดมแนวทางแก้ปัญหาจากทุกหน่วยงาน ซึ่งได้ประเมินภาวะที่มีผู้ติดเชื้อรุนแรงมาก จะต้องเพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วย รวมทั้งจะต้องปรับพื้นที่ในโรงพยาบาลในส่วนอื่นๆ เป็นห้องไอซียู และอาจจะต้องมีห้องไอซียูสนามด้วย แต่ก็มีความยุ่งยากและต้องหาสถานที่เพิ่มเติม แต่ยืนยันว่าผู้ป่วยอาการหนักทุกคน ต้องได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ส่วนกรณีผู้ป่วยติดเชื้อบางราย ไม่สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ จนเสียชีวิตก่อนจะได้รับการรักษานั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้ามาบริหารจัดการระบบสายด่วน โดยจะมีการปรับระบบ เพิ่มทีมรับโทรศัพท์อีก 50 สาย แบ่งป็นทีมแรกในการรับข้อมูลสำคัญของผู้ติดเชื้อ จากนั้นจะโอนข้อมูลของผู้ป่วยต่อให้ 50 สายที่เพิ่มขึ้นมา เป็นทีมที่โทรกลับไปหาผู้ป่วยเพื่อประสานหาเตียง โดยจะแบ่งเป็นกลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง สำหรับให้บริการประชาชนตามระดับอาการ

ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รอเตียงอยู่ 1,423 คน และเมื่อวานนี้ (22 เม.ย.) สามารถหาเตียงให้ผู้ป่วยได้แล้ว 474 คน โดยการปรับระบบใหม่นี้ กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย จากต้องหาสถานที่ให้เข้ารักษา โดยไม่ไปแพร่เชื้อสู่คนอื่น ส่วนกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีอาการมากและอาการหนัก ขอให้รอทางทีมสาธารณสุขจะเร่งหาเตียงให้เร็วที่สุด

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 145,324,030 ราย เสียชีวิต 3,085,061 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 32,669,121 ราย อันดับสอง อินเดีย 16,257,309 ราย อันดับสาม บราซิล 14,172,139 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,408,606 ราย และอันดับห้า รัสเซีย 4,736,121 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 105


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ