นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงผู้ป่วยโควิด-19 ที่ตกค้างอยู่ว่า จากข้อมูลที่มาจากการตรวจเชื้อซึ่งเป็นผลแล็บจากสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.)ซึ่งเอกชน คลีนิกต้องส่งข้อมูลมาให้ และข้อมูลจากสายด่วน 1668 และสายด่วน 1330 ที่ประชาชนได้โทรแจ้งเข้ามา โดยวานนี้มีตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในระบบที่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าได้นอนรพ.แล้ว 2,554 คน จึงได้ประชุมและเกิดการจัดการว่า วันนี้จะนำผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่รพ.ให้มากที่สุด
โดยได้มีแผนปฏิบัติการในวันที่ 24-26 เม.ย.64 โดยจะโทรหาผู้ติดเชื้อทุกราย แจ้งให้ไปจุดคัดกรอง ให้ข้อมูลขั้นตอนการปฏิบัติ นัดหมายการรับส่งจากจุดคัดกรอง เป็นผู้ป่วยสีเขียว สีเหลืองและสีแดง และรับเข้าสู่สถานพยาบาลที่กำหนด ซึ่งวันนี้ได้เข้ารพ.หลายร้อยคนแล้ว แต่หากยังไม่มีใครติดต่อกลับภายใน 26 เม.ย.ขอให้ติดต่อที่ 1668 เพื่อให้ข้อมูลอีกครั้ง
ในจำนวนผู้ป่วย 2,554 คน แบ่งเป็นกลุ่มดังนี้ รพ.มหาวิทยาลัย 367 ราย กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค สปสช.มีจำนวน 1,239 ราย รพ.เอกชน 596 ราย และ กรุงเทพมหานคร 352 ราย ทั้งนี้ผู้ป่วยได้รับการนอนรพ.แล้ว 1,039 ราย รอเข้านอน รพ. 814 ราย โดยครึ่งหนึ่งได้นัดเข้านอน รพ.วันนี้หรือพรุ่งนี้ ส่วนอีกครึ่งจะต้องเข้าจุดคัดกรองก่อนเข้านอน รพ. ปฏิเสธ 80 ราย ติดต่อไม่ได้ 116 ราย และอื่นๆ 505 ราย เช่น กักตัวครบ 14 วันแล้ว ดังนั้น สรุปในวันนี้มีผู้ป่วยที่ผ่านการคัดกรองเข้านอนรพ.แล้ว ประมาณ 400 ราย อีก 400 รายจะเข้านอนรพ.ตามที่นัดหมาย
"ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงจากที่ 3-4 วันที่บอกว่าไม่มีเตียงนั้นวันนี้จะได้รับการติดต่อเข้าสู่รพ.ทั้งหมด แต่รายไหนที่เพิ่งมีผลบวกวันนี้ก็รอแต่ก็ได้เน้นย้ำทุกรพ.ได้เชิญผู้ป่วยเข้าสู่รพ.ตามนโยบายของรัฐว่าทุกรายต้องได้รับการรักษา "
โดยในระหว่างที่รออยู่ที่บ้านก็ขอให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของก.สาธารณสุข ใส่ Mask ล้างมือ เว้นรักษาระยะห่าง ไม่ควรที่ออกไปชุมชน
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ในกรุงเทพมหานคร การจัดการให้ผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษานั้นมีหลายหน่วยงาน ภาคเอกชนที่มีรพ.หลายแห่ง ภาครัฐก็ช่วยกันดูแลผู้ป่วย ขอให้มั่นใจว่าผู้ที่มีผลติดเชื้อจะได้รับเข้ารับการรักษา ไม่แนะนำให้อยู่บ้าน