ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีข่าวว่ามีเครื่องบินเช่าเหมาลำของชาวอินเดียเดินทางมายังประเทศไทยว่า ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตเครื่องบินเช่าเหมาลำทำการบินเข้าประเทศไทย ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ส่วนกองทัพอากาศที่จัดเครื่องบินไปรับคณะของผู้ช่วยทูตทหารจากประเทศอินเดียกลับไทยในช่วงเวลานี้ ผู้ที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยต้องดำเนินการตามมาตรการเช่นกัน
ทั้งนี้ รัฐบาลดำเนินนโยบายเข้มข้นด้วยความระมัดระวังเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคผ่านทุกช่องทางเพื่อป้องกันการเล็ดลอดของเชื้อ และได้ชะลอการยื่นขอใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศ (COE - Certificate of Entry) ของชาวต่างชาติที่ประสงค์เดินทางมาจากประเทศอินเดียออกไปก่อน จะรับเพียงคนไทยที่ประสงค์เดินทางกลับบ้านและได้ลงทะเบียนไว้เท่านั้น
ดังนั้น เพื่อปรับข้อบังคับให้เป็นไปตามสถานการณ์และเพื่อควบคุมสกัดกั้นเชื้อโควิด-19 จากอินเดีย ศปก.ศบค. อนุมัติการชะลอการเดินทางเข้าประเทศไทยจากประเทศต้นทาง คือ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ รวมทั้งเพิ่มมาตรการการกักตัวเป็น 21 วัน อีกด้วย
ส่วนกรณีชาวอินเดีย จำนวน 7 คน ที่เข้ารับการรักษาตัวอยู่นั้น เดินทางเข้าประเทศไทยโดยสายการบินพาณิชย์ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564 สายการบินอินเดียแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ AI 0332 ตามข้อกำหนดอนุญาต (บุคคล 11 กลุ่ม) เช่น นักลงทุน นักธุรกิจ มีครอบครัวไทย มีใบอนุญาตทำงาน และเข้ามารักษาพยาบาล(กรณีไม่ใช่โรคโควิด) เป็นต้น โดยในเที่ยวบินดังกล่าว มีผู้โดยสารทั้งสิ้นจำนวน 149 คน เป็นคนอินเดีย คนไทย และสัญชาติอื่นๆ จึงไม่ใช่เครื่องเช่าเหมาลำตามข่าวแต่อย่างใด โดยขณะนี้ทั้งหมดยังอยู่ในช่วงกักกันโรค และกำลังอยู่ในช่วงการตรวจหาเชื้อเป็นระยะๆเพิ่อไม่ให้ผู้ติดเชื้อเล็ดลอดออกไปได้ สำหรับ 7 รายข้างต้น เมื่อเดินทางมาถึงไทย ตรวจพบเชื้อ จึงส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ตามมาตรการที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ รัฐบาลขอให้ความมั่นใจว่าการดำเนินการต่างๆ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด เช่น ขั้นตอนการเข้าเมือง การ Quarantine และตรวจหาเชื้อ ยังคงดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันการนำเข้าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ที่ระบาดในอินเดีย ที่จะทำให้สถานการณ์ในประเทศแย่ลง และส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนให้ลดลง ตามที่ ศ. นพ ยง ภู่วรวรรณ ได้ให้ข้อมูลไว้ด้วย รวมทั้ง ไม่มีการให้อภิสิทธิ์แก่ผู้ใด อย่างแน่นอน ชีวิตและความปลอดภัยของคนไทย คือสิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลต้องดูแลและป้องกัน
ด้านนาวาอากาศโทสุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ทสภ.) บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.ยืนยันว่าในระยะเวลาที่ผ่านมาไม่มีเครื่องเช่าเหมาลำเดินทางจากประเทศสาธารณรัฐอินเดียมายังประเทศไทยผ่าน ทสภ. แต่อย่างใด ล่าสุด ศบค. และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ชี้แจงแล้วว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง
ทั้งนี้ ทสภ. ในฐานะหน่วยงานผู้ดูแลการเดินทางเข้า-ออกประเทศทางอากาศ ขอยืนยันว่าภารกิจการรับเที่ยวบินจากประเทศอินเดียในเวลานี้มีเพียงส่วนการรับคนไทยกลับบ้าน (Repatriation flight) ตามภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งคนไทยจะเข้ามาได้จะต้องลงทะเบียนล่วงหน้า โดยไม่ได้มีเที่ยวบินเช่าเหมาลำอื่นจากประเทศอินเดียเข้ามายัง ทสภ.
นาวาอากาศโทสุธีรวัฒน์กล่าวว่า ทสภ.ในฐานะท่าอากาศยานหลักของประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนมาตรการคัดกรองผู้โดยสารของกระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC )อย่างเข้มงวด สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ขนผู้โดยสารต่างชาติเข้าประเทศไทยในขณะนี้ยังเป็นไปตามเงื่อนไขที่ กพท. กำหนด โดยผู้โดยสารทุกคนต้องผ่านมาตรการคัดกรองที่ ทสภ.อย่างเคร่งครัด โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการบูรณการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเมื่อผู้โดยสารทั้งคนไทยและคนต่างชาติเดินทางมาถึง ทสภ.
สำหรับขั้นตอนดำเนินการนั้น ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ทสภ. จะดำเนินการคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ ตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ตั้งแต่ลงจากเครื่องบิน โดยจัดให้ผู้โดยสารนั่งพักคอย เพื่อตรวจความครบถ้วนของเอกสารและตรวจคัดกรองโรค หลังจากที่ด่านควบคุมโรคฯ คัดกรองเรียบร้อยแล้ว กรณีถ้าผู้โดยสารไม่มีไข้จะไปผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง และรับกระเป๋า และออกทางช่องทางพิเศษ เพื่อขึ้นรถ ที่จัดเตรียมไว้เฉพาะ โดยมีเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) คอยกำกับดูแลนำผู้โดยสารไปส่งยังสถานกักตัวตามที่รัฐกำหนด ตามระยะเวลาการกักตัว 7-14 วันแล้วแต่เงื่อนไข ส่วนผู้โดยสารที่มีไข้ด่านควบคุมโรคฯจะดำเนินการนำส่งโรงพยาบาลและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดต่อไป จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบการคัดกรองของภาครัฐที่ ทสภ. ว่ามีการดำเนินการอย่างเคร่งครัด รัดกุม