พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" ถึงผลหารือกับทีมที่ปรึกษาเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เรื่องยกระดับการกระจายวัคซีนเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนสูงสุด เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายดังนี้
1.ผลักดันให้มีการจัดหาวัคซีนให้ได้เพิ่มมากขึ้นในทุกวิถีทาง โดยมีเป้าหมาย 10-15 ล้านโดสต่อเดือน จากวัคซีนที่มีความหลากหลายในปัจจุบัน
2.ปรับโครงสร้างให้มีการจัดกลุ่ม แบ่งงาน ผสมผสานการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้ชัดเจน โดยต้องให้มีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง ผลักดันแนวหน้าในการฉีดวัคซีนให้เป็นเชิงรุก เพื่อแบ่งเบาภาระจากโรงพยาบาลและสาธารณสุข
3.จัดให้มีศูนย์ฉีดวัคซีนทางเลือก โดยใช้สถานที่ที่เหมาะสม เช่น ศูนย์ประชุมฯ ศูนย์กีฬา โรงแรม เพื่อลดภารกิจของโรงพยาบาลหลัก และสาธารณสุข ที่ต้องรองรับดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก โดยศูนย์ฉีดวัคซีนฯ จะดึงการมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนทางเลือกในกลุ่มที่มีศักยภาพเพิ่มเติมจากของภาครัฐ
4.ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการฉีดให้ได้ 300,000 โดสต่อวัน หรือมากกว่า และเป้าหมายฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้หรือเร็วกว่า
นอกจากนี้ ตนเองยังได้สั่งการให้มีการปรับปรุงการคัดกรอง และระบบการเข้ารับการรักษาพยาบาลให้มีช่องทาง และการขนส่งเคลื่อนย้ายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้านายกรัฐมนตรีได้มีการประชุมหารือร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง, นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในฐานะคณะกรรมการจัดหาวัคซีนทางเลือก, นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี, นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB)
โดยวันนี้เป็นการหารือในวงเล็กก่อนที่จะมีการรับฟังข้อเสนอของภาคเอกชน ได้แก่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับแนวทางการจัดหาและกระจายวัคซีนของภาคเอกชนในวันที่ 28 เม.ย.นี้ หลังจากภาคเอกชนแสดงความประสงค์ในการจัดหาวัคซีนร่วมกับภาครัฐ เพื่อกระจายสู่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน
ก่อนหน้านี้ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกำลังเร่งแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงโดยเร็ว พร้อมเร่งกำหนดมาตรการรับมือผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจ