บมจ.ผลิต-ไฟฟ้าลาว (EDL-Gen) วางเป้าหมาย 10 ปีข้างหน้า (ปี 63-72) กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจะเพิ่มเป็น 2,435 เมกะวัตต์ โดยปัจุบันก็อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเพิ่มอีก 752 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการที่บริษัทเป็นผู้ลงทุนและพัฒนาเอง 275 เมกะวัตต์ และ จะเปิดกว้างให้เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) เข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาโครงการ 477 เมกะวัตต์ เพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ
อนึ่ง EDL-Gen เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดรายใหญ่ใน สปป.ลาว โดยมีรัฐบาลลาว ถือหุ้น 51% และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว ซึ่ง EDL-Gen มีการจ่ายไฟฟ้าให้กับ สปป.ลาว คิดเป็นสัดส่วน 40% ส่วนที่เหลือเป็นการส่งออก โดยส่วนใหญ่ส่งไฟฟ้ามาขายให้กับประเทศไทย
ปัจจุบัน EDL-Gen มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,949 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการที่พัฒนาเอง 13 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 717 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 11 โครงการ กำลังการผลิต 699 เมกะวัตต์ และโครงการที่บริษัทลงทุนร่วมกับผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่น (IPP) จำนวน 21 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,232 เมกะวัตต์ โดยมีการ COD ไปแล้วจำนวน 16 เมกะวัตต์ กำลังการผลิต 984 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออยู่ในช่วงของการก่อสร้าง
นายดวงสี พารายก กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า การพัฒนาและบริหารโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของ EDL-Gen ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้มาตรฐาน ISO14001 จากการนำทรัพยากรน้ำมาใช้ผลิตพลังงานสะอาด ผ่านเขื่อนที่มีกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าแบบให้น้ำไหลผ่านตลอดเวลา หรือ Run-off-the-river จึงไม่กระทบต่อปริมาณและคุณภาพน้ำทั้งด้านเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน รวมถึงคุณภาพชีวิตสัตว์น้ำในลุ่มน้ำโขง และควบคุมเสียงไม่ให้กระทบต่อชุมชน ทำให้บริษัทฯ สามารถใช้ประโยชน์จากการบริหารจัดการด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ มาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและความเป็นอยู่ของประชาชนใน สปป.ลาว ที่ดี
"เรามีเป้าหมายผลักดัน สปป.ลาว ให้เป็นผู้นำการผลิตพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนและมั่นคงในภูมิภาค เพื่อป้อนความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยมุ่งนำความเชี่ยวชาญมาพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าต่ำ ยั่งยืน และไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม สอดรับกระแส Green Energy ของโลก โดยใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มาผลิตกระแสไฟฟ้าสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ภูมิภาคอาเซียน" นายดวงสี กล่าว
นายวันแสง วันนะวง รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน EDL-Gen กล่าวว่า แนวทางพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำต่อจากนี้ EDL-Gen มีนโยบายเปิดกว้างให้ IPP เข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาโครงการเพื่อดึงเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ จากเดิมที่ EDL-Gen เป็นผู้ลงทุนพัฒนาโครงการเองทั้งหมด
โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2572 EDL-Gen จะมีโรงไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 42 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 2,435 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยผลักดันการดำเนินงานของ EDL-Gen ให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว และสนับสนุน สปป.ลาว เป็นผู้นำการผลิตพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนและมั่นคงในภูมิภาค รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ด้านแหล่งเงินลงทุนเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการดังกล่าว บริษัทยืนยันว่ามีความพร้อมในเรื่องของเงินลงทุนเพียงพอรองรับการพัฒนาโครงการฯ อีกทั้งในปีนี้บริษัทยังมีแผนออกหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย เพื่อรีไฟแนนซ์หุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนดอายุด้วย
ด้านนายสุเทพ เลิศศรีมงคล นักวิชาการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะอดีตที่ปรึกษา รมว.พลังงานและบ่อแร่ของ สปป.ลาว กล่าวว่า สปป.ลาว มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำรายใหญ่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งประเมินว่าภายในปี 73 สปป.ลาว จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งสิ้น 21,000 เมกะวัตต์ จากศักยภาพการผลิตทั้งหมดของทั้งประเทศที่คาดว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 30,000 เมกะวัตต์ในระยะยาว เนื่องจากลักษณะพื้นที่ของประเทศมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและมีแม่น้ำหลายสายนำมาพัฒนาโครงการได้ รวมถึงนโยบายของภาครัฐยังเปิดกว้างให้เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระร่วมลงทุน จึงเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทภาคเอกชนไทยเข้าร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าได้มากขึ้น
ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยแต่ละประเทศมีแผนบริหารจัดการด้านความมั่นคงของพลังงาน ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่พึ่งพิงพลังงานไฟฟ้าจาก สปป. ลาว เป็นจำนวนมาก โดยจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580 (PDP 2018) ประเทศไทยสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้อีก 3,500 เมกะวัตต์ ซึ่งยังสามารถซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ได้อีก 3,000 เมกะวัตต์ และจะเหลือสัดส่วนที่รับซื้อจากประเทศอื่นๆ อีก 500 เมกะวัตต์
นายวันแสง กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ในปีที่ผ่านมา สปป.ลาว ก็มีการล็อกดาวน์ประเทศไปถึง 3 เดือน (มี.ค.-พ.ค.) แต่บริษัทก็ไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง เนื่องด้วยพบว่ามีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นนช่วงดังกล่าวถึง 19% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมาจากการอุตสาหกรรม 55% และครัวเรือน 28% ที่เหลือเป็นอื่นๆ