ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีนัดหารือกับภาคเอกชนในวันนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้มีการจัดการวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนมากที่สุดในเวลาที่รวดเร็ว โดยเป็นความเห็นร่วมกันของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)
"ที่รัฐบาลบอกว่าเดือนมิถุนายนจะได้วัคซีน 10 ล้านโดส ภาคเอกชนเห็นว่าควรจัดหาเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุด ยิ่งมากยิ่งดี" นายสุพันธุ์ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
สำหรับแนวทางที่ภาคเอกชนจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ได้แก่ การสนับสนุนพื้นที่ในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป เช่น ห้างสรรพสินค้า ปั้มน้ำมันบางจาก เป็นต้น ส่วนกลุ่มคนงานในนิคมอุตสาหกรรมก็พร้อมที่จะจัดพื้นที่ฉีดวัคซีนให้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเดินทางของคนจำนวนมาก อีกทั้งในนิคมอุตสาหกรรมก็มีพยาบาลประจำอยู่แล้ว, การสนับสนุนเรื่องบุคลากรที่จะฉีดวัคซีนของสถานบริการความงาม, ปัญหาข้อติดขัดในการนำเข้าวัคซีนของภาคเอกชน
ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนเสนอเคยมีข้อเสนอที่จะรับภาระค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนเองนั้น ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ต้องดูว่าจะมีการนำเข้าวัคซีนในรูปแบบใด ค่าใช้จ่าย และระยะเวลา หลังจากนั้นจึงจะสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการ แต่ต้องไม่กระทบต่อแผนจัดหาและฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป
"เป็น extra เพิ่มเติม ไม่กระทบโควต้าที่รัฐบาลวางแผนไว้ ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาตามมา อย่างกรณีล็อตแรกที่ภาครัฐจัดหามาเพิ่ม 10 ล้านโดส ภาคเอกชนต้องการจัดหาเพิ่มเติมอีก 30% แต่ไม่ใช่ไปแบ่งจากโควต้าจนเหลือแค่ 7 ล้านโดส" นายสุพันธุ์ กล่าว