ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงกรณีที่มีการสอบถามเรื่องสายพันธุ์อินเดียและสายพันธุ์เบงกอลเนื่องจากการระบาดอย่างหนักในอินเดียนั้น จากการตรวจสายพันธุ์โดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกว่า 500 ตัวอย่างที่มีการระบาดในประเทศ ขณะนี้มากกว่า 98% เป็นสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 โดยยังไม่พบสายพันธุ์ อินเดีย เบงกอล อัฟริกาใต้ บราซิล ในประเทศไทย
สำหรับสายพันธุ์อินเดีย ไม่เหมือนสายพันธุ์อังกฤษที่แพร่กระจายง่าย เพราะมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนบนหนามแหลม ที่ตำแหน่ง 501 เป็น tyrosine (Y) จากสายพันธุ์เดิมคือ asparagine (E)
ทั้งนี้ สายพันธุ์อินเดียยังเป็นชนิด asparagine แต่มีจุดที่น่าสนใจในตำแหน่งการตัดแบ่งส่วน spike โปรตีนให้เป็น S1 และ S2 ด้วยเอนไซม์ furin ของมนุษย์ การเปลี่ยนกรดอะมิโนเป็น basic โดยเฉพาะ arginine (R) ทำให้หลุดเข้าเซลมนุษย์ได้ง่ายขึ้น จะติดเชื้อได้ง่ายขึ้นได้เช่นกัน
ขณะที่สายพันธุ์เบงกอลเป็นการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง 484 เป็น Lysine ที่ทำให้หลบหนีภูมิต้านทานจากวัคซีน เช่นเดียวกับสายพันธุ์อัฟริกาใต้ และบราซิล จึงทำให้มีการกล่าวถึงกันมาก
"สายพันธุ์นี้ก็ไม่ได้มีอะไรแปลกไปกว่าบราซิล และอัฟริกาใต้ ถ้าดูแล้วสายพันธุ์อัฟริกาใต้ยังน่ากลัวกว่า"ศ.นพ.ยง ระบุ