(เพิ่มเติม) ศบค.ยกระดับมาตรการคุมเข้มสกัดโควิดรอบใหม่มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค.นี้

ข่าวทั่วไป Thursday April 29, 2021 17:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ศบค.ยกระดับมาตรการคุมเข้มสกัดโควิดรอบใหม่มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค.นี้

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันนี้มีมติเห็นชอบให้ยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่จะจัดกลุ่มใหม่เป็น 6 จังหวัด เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 รายต่อสัปดาห์ ได้แก่ กทม. ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ

ทั้งนี้ มาตรการที่จะใช้กับกลุ่มสีแดงเข้ม ได้แก่

(เพิ่มเติม) ศบค.ยกระดับมาตรการคุมเข้มสกัดโควิดรอบใหม่มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค.นี้
  • ต้องใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย
  • ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 20 คน
  • งดการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และเปิดให้บริการให้ซื้อกลับบ้านได้จนถึง 21.00 น.
  • ปิดสนามกีฬา สถานที่ออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส
  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้ถึง 21.00 น.
  • ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโตรุ่ง เปิดได้ตั้งแต่ 04.00 น.ถึงไม่เกิน 23.00 น.
  • ขอความร่วมมืองดการเดินทางออกนอกพื้นที่

รวมทั้งขอให้หน่วยราชการและสถานประกอบการภาคเอกชนทั่วประเทศจัดให้มีการ Work From Home เป็นมาตรการขั้นสูงสุดเป็นเวลา 14 วัน

"ไม่ล็อกดาวน์ ไม่เคอร์ฟิว สิ่งที่จะช่วยได้ คือ Work From Home เพื่อลดการรวมกลุ่มของบุคคล"โฆษก ศบค. ระบุ

มาตรการต่าง ๆ ในครั้งนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.และมีกำหนดจะทบทวนอีกครั้งเมื่อครบ 14 วัน

นอกจากนี้ ปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) จาก 18 จังหวัด มาเป็น 45 จังหวัด พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จาก 59 จังหวัด ปรับเหลือ 26 จังหวัด

"การปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามระดับของพื้นที่สถานการณ์ เน้นการสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าในทุกระดับ ส่วนการจำกัดการรวมกลุ่ม และการงดรับประทานอาหารในร้าน สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด"นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมศบค. มอบหมายให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) พิจารณากำหนดมาตรการเยียวยว เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกระดับมาตรการในครั้งนี้โดยเร่งด่วน และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมก้บภาคประชาสังคม เร่งรัดช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและประชาชนกลุ่มเปาะบางอย่างเต็มความสามารถ พร้อมทั้งมอบหมายให้ ศปก.ศบค. ประสานกับคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในการจัดระบบประกันสุขภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อ

ทั้งนี้ โฆษก ศบค. เน้นย้ำ ต้องมีการสวมหน้ากากอนามัยอย่างเต็มที่ เมื่อออกนอกเคหสถาน หากไม่ปฏิบัติตามพนักงานสามารถตักเตือนหรือสั่งปรับได้ตามความเหมาะสม ส่วนการจัดกิจกรรมงานเลี้ยงสังสรรค์ ให้งดการจัดกิจกรรมทางสังคม ยกเว้นการจัดพิธีตามประเพณีนิยมในกรณีการจัดงานศพ หรือกิจกรรมที่จัดขึ้นในครอบครัว

พร้อมกันนั้น ศบค.ยังให้ปรับระยะเวลาการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทุกกรณีกลับมาที่ 14 วัน จากก่อนหน้าที่ลดลงไปเหลือ 7 วัน หรือ 10 วัน หรือคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ลดเหลือ 7 วัน ก็ให้กลับมากักตัว 14 วันทุกประเภท และไม่อนุญาตให้ออกจากห้องพัก ยกเว้นคนที่ออกมาตรวจหาเชื้อ และรักษาพยาบาล และใช้บังคับกับผู้ที่ได้รับอนุมัติ COE ตั้งแต่ 1 พ.ค. 64 หรือ ผู้ที่ได้รับอนุมัติ COE ก่อนวันที่ 1 พ.ค. และเดินทางถึงราชอาณาจักรนับตั้งแต่วันที 6 พ.ค. เป็นต้นไป และต้องมีการตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึง แผนการจัดหาวัคซีนให้ครบกลุ่มเป้าหมาย 100 ล้านโดส ครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน หรือคิดเป็น 70 % ของประชากรทั้งหมด ภายในปีสิ้นปี 64 ว่า ในขณะนี้ได้มีการเตรียมวัคซีนไว้แล้ว 63 ล้านโดส และต้องจัดหาเพิ่มอีก 37 ล้านโดส สำหรับประชากร 18.5 ล้านคน พร้อมทั้งกำหนดไว้ว่า หากสามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงพอและทันเวลา การฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ต้องเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม 64 และได้กำหนดเป้าหมายจัดหาวัคซีน 20 ล้านโดสต่อเดือน

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานแผนการฉีดวัคซีนต่อที่ประชุมได้รับทราบว่า ได้กำหนดจุดบริการทั้งในและนอกโรงพยาบาล จำนวน 1,000 แห่ง แห่งละ 500-1,000 โดสต่อวัน โดยเฉลี่ยได้ถึง 5 แสนถึง 1 ล้านโดสต่อวัน ใช้เวลาระยะ 30 วัน จะสามารถฉีดได้ 15-30 ล้านโดสต่อเดือน และฉีดได้ครบ 100 ล้านโดสภายใน 7 เดือน (ก.ย.-ธ.ค. 64)

ส่วนในกรุงเทพมหานคร ต้องมีการจัดจุดบริการทั้งในและนอกโรงพยาบาล จำนวน 100 แห่ง แห่งละ 1,000 โดสต่อวัน รวม 1 แสนโดสต่อวัน ในระยะเวลา 30 วัน จะสามารถฉีดได้ 3 ล้านโดสต่อเดือน และจะสามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ได้ครบภายใน 3 เดือน (มิ.ย.-ส.ค.64)

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ขออนุมัติหลักการจัดซือวัคซีนโควิดในหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์, สปุตนิก วี, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และยี่ห้ออื่นๆ ซึ่งภาคเอกชน สามารถจัดหาวัคซีนได้เช่นเดียวกัน พร้อมกับมอบหมายให้นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา ทำงานร่วมกับภาคเอกชนทั้ง 4 ด้าน และนำเสนอต่อที่ประชุมศบค. เพื่อพิจารณาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ