นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า วันนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความพร้อมโรงพยาบาลสนามโรงยิมเนเซียมเทศบาลเมืองบางริ้น รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวในพื้นที่จังหวัดระนอง ทั้งนี้ ข้อมูลการระบาดโควิดระลอกเดือนเมษายน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-1 พ.ค. 64 พบผู้ติดเชื้อสะสม 237 ราย เป็นคนไทย 157 ราย แรงงานข้ามชาติ 80 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 คน โดยพบผู้ติดเชื้อใน 12 คลัสเตอร์ ซึ่งคลัสเตอร์สนุกเกอร์-แพปลา ยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องทั้งชาวไทยและชาวเมียนมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทานเชิงรุกออกคัดกรองและค้นหาในกลุ่มเสี่ยงที่สมาคมประมงระนอง ตั้งแต่วันที่ 27-29 เม.ย. ตรวจไปแล้ว 1,266 ราย พบติดเชื้อ 51 ราย เป็นคนไทย 16 ราย เมียนมา 35 ราย และได้ขยายการให้บริการถึงวันที่ 2 พ.ค.64 นี้
นายอนุทิน กล่าวว่า ระนองเป็นจังหวัดชายแดนที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ มีผู้ประกอบธุรกิจรวมทั้งผู้ทำงานชาวไทยและเมียนมาเดินทางเข้า-ออกจังหวัดจำนวนมาก ได้กำชับให้ติดตามเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น จากการคัดกรองเชิงรุกยังพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นมารองรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ตัดวงจรการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นโดยเฉพาะคนในครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน ซึ่งขณะนี้เปิดแล้ว 1 แห่ง เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่โรงยิมเนเซียม เทศบาลเมืองบางริ้น รองรับคนไทย 100 เตียง และอาคารด้านหลังโรงยิมฯ รองรับแรงงานเมียนมา 40 เตียง นอกจากนี้ ยังมีแผนเปิดเพิ่มอีก 5 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ
"วันนี้มาให้กำลังใจแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ติดเชื้อ ซึ่งการบริหารจัดการเป็นไปด้วยความราบรื่น ขณะนี้ จ.ระนอง ได้ออกมาตรการต่างๆ เช่น การห้ามร้านจำหน่ายอาหารทุกประเภท ไม่ให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหารภายในร้าน ให้ซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านได้ เพื่อลดการรวมตัวที่ถือว่าเป็นความเสี่ยง อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุในการแพร่กระจายเชื้อได้ ทั้งนี้ น่าจะคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งในวันนี้ได้นำวัคซีนมามอบให้แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า จำนวน 5,000 โดส" นายอนุทินกล่าว
ด้านนพ.นรเทพ อัศวพัชระ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง กล่าวว่า จังหวัดระนองมีผู้เดินทางเข้า-ออกจังหวัด สแกน QR code "ระนองชนะ" ตั้งแต่วันที่ 1- 30 เมษายน 2564 จำนวน 8,790 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ติดตามพบผู้ที่มีความเสี่ยงสูง 892 ราย ส่งตรวจหาสารพันธุกรรมโรคโควิด-19 ทุกราย และกักกันตัวเพื่อสังเกตอาการในที่พักอาศัย 14 วัน (Home Quarantine) ส่วนผู้มีความเสี่ยงต่ำให้เฝ้าระวังสังเกตอาการ 14 วัน (Self Quarantine) จำนวน 7,832 ราย