พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์คลองเตยว่า ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ และได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังในการควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยให้นำประสบการณ์จากการจัดการในจังหวัดสมุทรสาครได้สำเร็จมาปรับใช้ และใช้โมเดล "ตรวจเชื้อ ติดต่อ คัดกรอง แยกตัว ส่งต่อ และรักษา" โดยเน้นไปที่การตรวจเชิงรุก Active Case Finding ที่ระดมตรวจกลุ่มเสี่ยงในชุมชนที่มีการติดเชื้อให้ได้อย่างน้อย 1,000 คนต่อวัน จากหน่วยเคลื่อนที่และรถเก็บตัวอย่างชีวะนิรภัยพระราชทาน และจะตรวจเชิงรุกให้ได้อย่างน้อยทั้งหมด 20,000 คน จากนั้นก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป คือการแยกผู้ป่วยตามระดับอาการ แล้วส่งตัวเข้าสถานพยาบาลแรกรับ เพื่อส่งไปรักษาตัวต่อ ซึ่งจะช่วยในการจำกัดวงการแพร่ระบาดให้วงเล็กที่สุด และจะระดมการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง
นอกจากนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้จัดพื้นที่ตรวจเชิงรุกให้กับพี่น้องชาวชุมชนคลองเตยได้อีกถึง 700 คนต่อวัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้สั่งการให้มีการเพิ่มสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งในขณะนี้ยังมีเพียงพอ แต่ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ ต้องมีการขยายเพิ่มเพื่อรองรับผู้ป่วยอาการหนักในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเมื่อวานนี้ ได้มีการเปิดโรงพยาบาลสนามที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นอีก 432 เตียง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังจะมีแผนการบริหารจัดการการดูแลผู้ป่วยอาการหนักที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในการอำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง สิ่งสำคัญ คือ ต้องทำทุกทางเพื่อลดการสูญเสียให้มากที่สุด
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้มีการจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อบูรณาการการจัดการทรัพยากรของหน่วยงานต่างๆเพื่อสนับสนุนกรุงเทพมหานครอย่างเต็มที่ในการควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างเร่งด่วน ซึ่งตนเองเป็นผู้อำนวยการศูนย์นี้ และมีหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดในพื้นที่เป็นกรรมการ และให้ศูนย์นี้สามารถเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาของจังหวัดอื่นๆต่อไปอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เพื่อการจัดการสถานการณ์โควิดในภาพรวมเป็นไปได้อย่างดียิ่งขึ้น จึงได้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยมีรัฐมนตรีว่าการ และช่วยว่าการสาธารณสุขเป็นที่ปรึกษา และมีเลขาสภาความมั่นคงเป็นประธาน และมีหัวหน้าหน่วยงานด้านสาธารณสุข มหาดไทย และกลาโหม เป็นกรรมการ เพื่อให้เกิดการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานฝ่ายปกครอง ในการบูรณาการทั้งด้านบุคลากรและทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การตรวจคัดกรอง การควบคุมพื้นที่ และอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
โดยทั้ง 2 คณะ และศบค.ทุกชุด จะมีคณะปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 คอยให้คำปรึกษา โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน รวมทั้งมีอาจารย์แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆเป็นกรรมการ เพื่อให้ข้อเสนอแนะตามหลักวิชาการสาธารณสุข และสามารถเชื่อมประสานกับโรงพยาบาลต่างๆได้อย่างดีอีกด้วย
ส่วนในเรื่องของยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้ในการรักษา แม้จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ได้มีการสำรองไว้แล้วอย่างเพียงพอ โดยยังมีเหลือในสต็อก 1.5 แสนเม็ด กระจายไปยังทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ และจะได้รับเพิ่มอีก 3 ล้านเม็ดในเดือนนี้ จึงไม่ต้องกังวลว่า จะไม่มียาเพียงพอ
ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดจนถึงขณะนี้ ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมประมาณ 7 หมื่นคน และรักษาหายกลับบ้านแล้วมากกว่า 4 หมื่นคน ซึ่งถือเป็นความสามารถของทีมแพทย์ไทย ที่อยู่ในเกณฑ์ระดับโลก เป็นความภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ รัฐบาลมีนโยบายดูแลคนไทยทุกคนในการรักษาโควิด-19 โดยรัฐจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายตามสิทธิการรักษาของผู้ป่วย และในกรณีโรงพยาบาลเอกชน จะได้รับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 20% ทุกรายการ
ส่วนการจัดหาและการฉีดวัคซีน ได้มีการกำหนดให้เรื่องนี้เป็นมาตรการเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายว่า ภายในสิ้นปีนี้ ประชากรในประเทศไทยต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 70% หรือคิดเป็นประชากร 50 ล้านคน โดยต้องใช้วัคซีนทั้งสิ้น 100 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนตามแผนแล้ว 63 ล้านโดส โดย 61 ล้านโดสเป็นวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนก้า ที่จะผลิตในประเทศไทยและจะเริ่มส่งมอบได้แน่นอนในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเริ่มทำการฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง คือผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวได้ทันทีจำนวน 16 ล้านคน
นอกจากนี้ในเดือนพ.ค. จะได้รับวัคซีนซิโนแวคมาเพิ่มเติมจากแผนอีก 3.5 ล้านโดส เพื่อระดมฉีดให้กับบุคลากรด่านหน้าและผู้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงให้มากที่สุด และกระทรวงสาธารณสุข ยังเสนอแผนการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม คือ วัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 5-20 ล้านโดส วัคซีนสปุตนิก วี วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และวัคซีนซิโนแวค บริษัทละ 5-10 ล้านโดส รวมทั้งวัคซีนอื่นที่จะมีการขึ้นทะเบียนในอนาคต
ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนการกระจายและฉีดวัคซีนอย่างเป็นระบบ ผ่านระบบหมอพร้อม ที่มีประชาชนมาลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 1 ล้านคน รวมทั้งผ่านทางเครือข่ายโรงพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และเครือข่าย อสม. ทั่วประเทศ โดยใช้แผนบริการการฉีดวัคซีนตามหลักการสาธารณสุขและการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคม จัดลำดับกลุ่มเสี่ยง และพื้นที่เร่งด่วนและพื้นที่เศรษฐกิจ โดยได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการเพิ่มจุดบริการการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น และตั้งเป้าว่า ต้องฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส เพื่อเอาชนะสงครามกับโควิดในครั้งนี้ให้ได้
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลและศบค. จะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการบริหารจัดการ แก้ปัญหาวิกฤตโควิด ทั้งด้านการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด และการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ