พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงการยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 กรณีหากครบ 14 วัน แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังสูงอยู่ว่า เบื้องต้นยังไม่มีแนวคิดจะประกาศใช้ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวในขณะนี้ โดยจะเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะนำมาใช้หากไม่สามารถยับยั้งหรือควบคุมสถานการณ์ได้
ส่วนจะขยายเวลาปิดสถานที่ในพื้นที่ 6 จังหวัดที่มีการควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไปถึงสิ้นเดือนหรือไม่นั้น พล.อ. ณัฐพล กล่าวว่า เมื่อครบกำหนดเวลาการประกาศใช้มาตรการ 14 วันแล้ว คงต้องรอทางกระทรวงสาธารณสุขวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ก่อน โดยย้ำว่ามาตรการต่างๆ ที่ประกาศใช้ออกมานั้นทาง ศบค. รับฟังข้อเสนอแนะจากทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก ขณะที่นายกรัฐมนตรีให้นโยบายกับ ศบค.ให้พิจารณาการใช้มาตรการต่างๆ อย่างรอบคอบ และให้มีผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ยังกล่าวถึง แผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยนำร่องจังหวัดภูเก็ตในวันที่ 1 ก.ค.นี้ว่า ในขณะนี้ยังพยายามที่จะดำเนินการให้ได้ตามแผนที่วางไว้ แต่คงต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ซึ่งเบื้องต้นจะเร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่แพร่ระบาดและพื้นที่เศรษฐกิจทั้ง จ.ภูเก็ต, เกาะสมุย และพัทยา ตามลำดับ เพื่อให้มีความพร้อมและลดความเสี่ยง
ส่วนความกังวลต่อโควิดสายพันธุ์บราซิลและสายพันธุ์แอฟริกาในไทยนั้น เลขา สมช. กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้มีการเฝ้าระวังบริเวณชายแดนอย่างเต็มที่ ป้องกันไม่ให้มีการลักลอบเข้าประเทศโดยเด็ดขาด ส่วนที่เดินทางมาอย่างถูกต้องก็จะมีการคัดกรองอย่างเข้มงวด กักตัวให้ครบ 14 วัน และเพิ่มมาตรการติดตามตัวหลังจากนั้น โดยขอความร่วมมือให้กักตัวเองและหลีกเลี่ยงสัมผัสผู้อื่นต่อไปอีก 14 วัน
สำหรับการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุขขึ้นมานั้น พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานของภาครัฐ-เอกชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง บูรณาการและสรุปข้อมูลประเด็นต่างๆ รายงานต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง ตามเวลาที่กำหนด หากมีสิ่งใดที่นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายเพิ่มเติม จะได้นำไปปฏิบัติต่อไป
คณะกรรมการชุดนี้จะไม่ทำงานซ้ำซ้อนกับศูนย์ปฏิบัติการชุดต่างๆที่มีใน ศบค.ซึ่งการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฏหมายเท่านั้น และจะมีการบูรณาการร่วมกันอย่างเต็มที่
เลขา สมช.ยังกล่าวถึงแผนการฉีดวัคซีนใน กทม.ว่า ทางศบค.ได้วางแผนในช่วง 4 เดือนหลังจากนี้จะต้องฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ได้ครบทุกคน ซึ่งในกทม.คาดว่าต้องฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ได้ถึง 6 ล้านคน จึงต้องดำเนินการฉีดให้ได้วันละ 60,000 คน ซึ่งทาง กทม.ต้องบริหารจัดการลงไปในแต่ละเขตให้ได้ตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี มีข้อห่วงใยทั้งสื่อมวลชนและประชาชนเนื่องจากการแพร่ระบาดในระลอกนี้ ติดเชื้อจากที่ทำงานและอาจแพร่มาในครอบครัว โดยได้ฝากให้ช่วงนี้ประชาชนต้องระมัดระวังตัวเองไปก่อน เข้มงวดตามมาตรการด้านสาธารณสุขสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง คาดว่าปลายเดือน พ.ค.-ต้นเดือน มิ.ย.จะมีวัคซีนเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งจะเร่งกระจายฉีดวัคซีนในพื้นที่ระบาดหรือพื้นที่สีแดงเข้มก่อนเป็นอันดับแรก