นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำคณะเข้าพบหารือเมื่อวานนี้ เพื่อร่วมกันจัดหาสถานที่ฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่ในเขตของจุฬาฯ และเครือข่ายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน กทม. ซึ่งเป็นการช่วยภารกิจของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข มีรูปแบบการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมประชาชนโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มนิสิตนักศึกษา อาจารย์ ศิษย์เก่าครอบครัว หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในละแวกรอบๆ มหาวิทยาลัย จะได้รับการฉีดโดยเครือข่ายของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง กระทรวงสาธารณสุข จะทำหน้าที่ส่งวัคซีนและอุปกรณ์การฉีดให้ ถือว่าเป็นการช่วยลดภาระงานของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขจะได้ไปฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มอื่นๆ ต่อไป
สำหรับกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มแรก คือ ครู อาจารย์ใน กทม. ที่จะเปิดเทอมในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ และกลุ่มที่ 2 เป็นบุคลากรในมหาวิทยาลัย อาจารย์ นิสิตนักศึกษา และคนในครอบครัวสายตรง เบื้องต้นจะตั้งจุดบริการ 2 จุด คือ จามจุรีสแควร์ ชั้น 4 และชั้น 5 และศูนย์บริการสุขภาพ ที่อาคารจามจุรี 9 ตั้งเป้าฉีดจุดละ 1,500 คนต่อวัน คาดเริ่มฉีดได้กลางเดือนนี้
"สิ่งที่ผมเห็นคือประโยชน์ การที่จุฬามาเริ่มให้บริการในการฉีดแบบนี้เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับองค์กรอื่นๆ ในการกระจายการฉีดวัคซีนออกไปทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนรวดเร็วยิ่งขึ้น" นายอนุทินกล่าว
ด้านนายบัณฑิต กล่าวว่า ขณะนี้เราอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติเรื่องของโควิด ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของชาวจุฬาฯ โดยจุฬา ฯ จะจัดตั้งจุดให้บริการฉีดวัคซีน เริ่มต้นในบริเวณรอบๆ เขตปทุมวันและสาทร จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้รวดเร็ว โดยเราจะนำวัคซีนเข้าไปหาประชาชน ไม่ใช่ประชาชนเข้ามาหาวัคซีน
จุฬาฯ มีความพร้อมทางด้านบุคลากรและระบบตรวจติดตาม และระบบที่จะเชื่อมโยงฐานข้อมูลต่างๆ เข้าสู่ระบบหมอพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะที่เป็นตัวแทนสภามหาวิทยาลัย (ทปอ.) ได้หารือกันในเบื้องต้นแล้ว เมื่อจุฬาฯ จัดระบบเรียบร้อยแล้ว ก็จะขยายไปยังมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนในเขตกรุงเทพฯ ก่อนขยายต่อไปทั่วประเทศ