นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเดินทางไปติดตามความคืบหน้าการเปิดหอไอซียูส่วนต่อขยายรองรับผู้ป่วยวิกฤตโควิด-19 ของโรงพยาบาลราชวิถี ว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ระลอกเมษายนนี้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้น โดยในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลมีผู้ติดเชื้อมาก 50-70% ของการติดเชื้อทั้งประเทศ และพบผู้ติดเชื้ออาการปานกลางจนถึงอาการหนักรุนแรงเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังและผู้สูงอายุ
โดยในพื้นที่ กทม.กระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้กรมการแพทย์รับผิดชอบในการบริหารจัดการเตียงร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ โรงเรียนแพทย์ กทม. กองทัพ เอกชน ได้มีแผนเพิ่มจำนวนเตียงให้เพียงพอกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น
รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้โรงพยาบาลราชวิถีเป็นต้นแบบในการขยายเตียงไอซียู ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท เอสซีจี ออกแบบและก่อสร้างหอผู้ป่วยไอซียูส่วนขยายขนาด 10 เตียง โดยใช้เวลาก่อสร้างและจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยอาการวิกฤต อาทิ เครื่องช่วยหายใจการไหลเวียนออกซิเจนสูง เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เป็นต้น ภายในเวลารวดเร็ว 7-10 วัน พร้อมระดมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการทำงานในหอผู้ป่วยไอซียู ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนทำงาน เปิดให้บริการวันที่ 11 พ.ค.นี้
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลราชวิถีมีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิดทั้งหมด 62 เตียง ใช้ไปแล้ว 58 เตียง เฉพาะเตียงไอซียูมีอยู่ 21 เตียงใช้ไปแล้ว 18 เตียง และการเพิ่มเตียงไอซียูส่วนต่อขยายครั้งนี้จะช่วยให้การหมุนเวียนการใช้เตียงทำได้ดีขึ้น ซึ่งมีระบบการทำงานเหมือนไอซียูปกติ โดยจัดแบ่งพื้นที่การใช้งาน และระบบการกำจัดขยะติดเชื้อที่ได้มาตรฐาน รวมถึงมีระบบการจัดการอากาศปลอดเชื้อแยกระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ติดเชื้อ เพื่อป้องกันการปนเปื้อน ทั้งนี้ สามารถควบคุมแรงดันอากาศได้ทั้งระบบความดันบวก (POSITIVE PRESSURE ROOM) กำจัดเชื้อโรคและฝุ่น พร้อมระบบความดันลบ (NEGATIVE PRESSURE ROOM) จำกัดการแพร่กระจายและลดการติดเชื้อไวรัสภายนอกอาคารได้ตามมาตรฐาน