นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การจัดหายาฟาวิพิราเวียร์นั้นเป็นนโยบายแล้วว่าจะต้องสำรองใช้ไม่ขาด โดยจะต้องมีหมุนเวียนใช้ในคลัง พร้อมจัดหาสั่งซื้อเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม เราจะต้องพึ่งพาตัวเองได้ โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เริ่มผลิตยานี้ในประเทศไทยได้แล้ว อยู่ในระหว่างการศึกษาชีวสมมูล คาดว่าจะผลิตแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. ขณะเดียวกันเดือนนี้ประเทศไทยจะมีวัคซีนซิโนแวครวม 3.5 ล้านโดสผ่าน อภ.เป็นผู้นำเข้า และเดือน มิ.ย. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในล็อตใหญ่ก็จะทยอยนำมาฉีดให้ประชาชน
เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ส่วนใหญ่ยังพบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เข้าไปช่วยคลี่คลายปัญหาตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อช่วยเหลือภาระงานของหน่วยงานหลัก ทั้งนี้ สธ.โดยความร่วมมือจากทุกกรมจัดตั้งศูนย์แรกรับผู้ป่วยโควิด-19 และส่งต่อผู้ป่วยเพื่อช่วยกรุงเทพมหานคร แก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วย
ต่อมาเมื่อมีรายงานปัญหาว่า มีผู้ป่วยแสดงอาการเพิ่มขึ้นจำนวนมากจนอาจกระทบกับระบบโรงพยาบาลปกติ ทางกระทรวงฯ จึงได้ตั้งโรงพยาบาลบุษราคัม ใช้อาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยถึงปานกลาง รองรับเบื้องต้น 1,200 เตียง สามารถขยายได้ถึง 5,000 เตียง ใช้หมอจากทั่วประเทศ โดยจะไม่กระทบกับงานของหมอที่รักษาผู้ป่วยอยู่แล้ว จะรับผู้ป่วยอาการน้อยถึงปานกลางเข้ามาดูแลที่นี่ เพื่อช่วยให้โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ รับผิดชอบผู้ป่วยอาการหนักโดยเฉพาะ
สำหรับการลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนผ่านหมอพร้อม นพ.โสภณ เมฆธน อธบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันชัดเจนว่า กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค จะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ทั้งนี้ เพื่อให้การลงทะเบียนบรรลุเป้าหมาย 16 ล้านโดสแรก เราจึงเปิดช่องทางลงทะเบียนด้วยตนเองที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกำลังหลักในการขยายข่าวสารและสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในหมู่บ้านด้วย ทั้งนี้ มติในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ขยายการฉีดวัคซีนในประชากรวัยแรงงาน โดยมีสำนักงานประกันสังคม และทางจังหวัดเป็นผู้รวบรวมรายชื่อแรงงานที่จะรับวัคซีนส่งมายัง สธ. เพื่อกระจายการฉีดวัคซีนต่อไป
นายอนุทิน กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญคือบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานด่านหน้า ที่เสียสละเวลาของตัวเองมาทำงานดูแลพี่น้องประชาชน โดยเราเร่งสร้างเกราะป้องกันให้คนทำงาน ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้บุคลากรสาธารณสุข สร้างความปลอดภัย ความมั่นใจให้คนทำงาน ส่วนบุคลากรเบื้องหลัง ที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์รายชั่วโมง ปรับแผนการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเต็มความสามารถ วันหยุดก็มาทำงาน ทุกเช้า 7 โมงก็ประชุมอีโอซีทุกวันไม่มีวันหยุด
"ผมอยากให้ทุกคนร่วมกันให้กำลังใจทำคนงาน ผมและผู้บริหาร สธ. ทุกวันนี้ต่างให้กำลังใจกันและกัน โดยฉพาะ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เห็นจิ๋วแบบนั้นแต่แจ๋วมาก ทำงานบนความกดดัน แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ก็ไม่บั่นทอนกำลังใจตัวเอง แต่ในหลายครั้งที่คุณหมอออกมาพูด อธิบายในข้อโต้แย้งต่างๆ ก็เพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนอย่างถูกต้อง คุณหมอมีความหวังดี และเราต้องให้กำลังใจ ฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน" นายอนุทิน กล่าวและว่า ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ช่วยกันลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด