พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช.มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ปรับปรุงภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพิ่มเติมแล้ว และให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบเวลาการดำเนินการประมูลฯ โดยกำหนดวันที่ 24 ก.ค. 2564 เป็นวันประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ครั้งแรกของประเทศไทย โดยผู้เข้าร่วมประมูลได้ต้องผ่านเกณฑ์ด้านประสบการณ์ก่อน จึงจะสามารถเข้าร่วมแข่งขันการประมูลได้ โดยจะใช้วิธีการประมูลทีละชุด แบบ Sequential Ascending Clock Auction (SACA)
รายละเอียดของกรอบเวลาในการดำเนินการประมูลฯ เป็นดังนี้
1. เปิดให้รับคำขอ วันที่ 21 พ.ค. 2564
2. การให้ข้อมูลสำหรับการเตรียมเอกสารที่ใช้ในวันขอรับอนุญาต วันที่ 22 พ.ค. ? 20 มิ.ย. 2564
3. เปิดให้ยื่นขอรับอนุญาต วันที่ 21 มิ.ย. 2564
4. ประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือก วันที่ 5 ก.ค. 2564
5. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์ประสบการณ์ วันที่ 12 ก.ค. 2564
6. การให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประมูลสำหรับผู้เข้าร่วมประมูล และ Mock Auction วันที่ 19 ? 21 ก.ค. 2564
7. วันประมูล 24 ก.ค. 2564
8. ประชุม กสทช. รับรองผลการประมูล ภายใน 7 วัน
ด้านชุดข่ายงานดาวเทียมทั้ง 4 ชุด ที่จะนำมาประมูลในครั้งนี้ ได้แก่
ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และ วงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาขั้นต่ำ 676.914 ล้านบาท
ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ 78.5E) ราคาขั้นต่ำ 366.488 ล้านบาท
ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ 119.5E) และ วงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาขั้นต่ำ 392.950 ล้านบาท
ชุดที่ 4 ประกอบด้วย วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และ วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) ราคาขั้นต่ำ 364.687 ล้านบาท
"การประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่จะเกิดการอนุญาตและเปิดตลาดเสรีดาวเทียมไทย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบการอนุญาต โดยสัมปทานดาวเทียมไทยคมถือเป็นสัมปทานด้านการสื่อสารสุดท้ายของประเทศไทยที่จะสิ้นสุดในวันที่ 10 ก.ย.64 ส่งผลให้กิจการดาวเทียมไทยมีการเดินหน้าต่อยอดต่อไปได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อที่จะให้ประชาชนได้รับบริการจากเทคโนโลยีใหม่ของดาวเทียมที่มีความก้าวกระโดดทั้งในส่วนของดาวเทียม Broadcast และ Broadband ต่อไป" พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว