นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวถึง การปรับแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า หลังวันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป วัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนกาจะส่งมอบตามสัญญาที่ทำไว้กับประเทศไทยในทุกๆเดือนจนครบ 61 ล้านโดส ซึ่งนั่นหมายความว่า จะมีจำนวนวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากนี้รัฐบาลมีแนวคิดว่า จะให้ประชาชนสามารถวอล์คอินเข้าฉีดวัคซีนได้ โดยจะเริ่มในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งขณะนี้ทางกรมควบคุมโรคจะไปหาวิธีในการแจ้งประชาชนว่า แต่ละหน่วยจะมีโควต้าให้ประชาชนได้เท่าไร เพื่อจะได้ไม่เสียเวลา
"แต่ละจังหวัดจะต้องฉีดให้ได้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากร โดยการกระจายวัคซีนจะเน้นพื้นที่ระบาดก่อนเพื่อควบคุมโรค โดยจังหวัดจะกำหนดจุดฉีดวัคซีน และแบ่งสัดส่วนวัคซีนสำหรับระบบนัดและการเดินเข้ามารับวัคซีน ซึ่งปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม แต่ทุกจุดฉีดวัคซีนต้องดำเนินการตามมาตรฐาน เฝ้าระวังอาการหลังฉีด ไม่ว่าเข้ามาในรูปแบบใด เมื่อรับวัคซีนแล้วจะมีการบันทึกข้อมูลในหมอพร้อมเพื่อติดตามอาการ นัดมารับวัคซีนเข็มที่สอง และออกใบรับรองการฉีดวัคซีน" นายอนุทินกล่าว
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมีมติเห็นชอบ ดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้เพียงพอกับประชาชน ตาม 3 แนวทาง คือ
1.เพิ่มจำนวนวัคซีนจากเป้าหมายเดิม 100 ล้านโดส เป็น 150 ล้านโดส ภายในปี 2565
2.ทำงานเชิงรุก เร่งเจรจาจัดซื้อวัคซีนให้คืบหน้า ซื้อให้ได้มากที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสรับวัคซีนที่ดีที่สุดครอบคลุมถึงการกลายพันธุ์หรือสายพันธุ์อื่นๆ
3.ปรับแนวทางการฉีดวัคซีน โดยปูพรมฉีดเข็มแรกให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อ ลดโอกาสการติดเชื้อและความรุนแรงของโรค ซึ่งการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเริ่มต้นตั้งแต่เดือน มิ.ย. เป็นต้นไป ใน 3 รูปแบบ ดังนี้
1.กลุ่มที่ลงทะเบียนผ่านแอปฯ และไลน์ หมอพร้อม หรือที่รัฐบาลจัดสรรเพิ่มเติม
2.กลุ่มบุคลากรภาครัฐและเอกชน
3.การฉีดแบบปูพรม หรือ Walk in ทั่วประเทศ โดยการบริหารจัดการนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด
นอกจากนี้ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดหาวัคซีนโควิด 19 สำหรับประชากรไทยในปี 2565 โดยให้เร่งรัดเจรจากับผู้ผลิตที่มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่สามารถครอบคลุมไวรัสกลายพันธุ์ ส่งมอบได้ภายในไตรมาส 1 ของปี 2565 และเร่งรัดการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยแพลตฟอร์มใหม่ สนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนแบบรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส แนวทางการขึ้นทะเบียนวัคซีนที่วิจัยพัฒนาในประเทศ และแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 3 โดยจะรายงานศูนย์บริหารสถานการร์โควิด-19 (ศบค.)รับทราบต่อไป
"การจัดหาวัคซีนไม่ได้เป็นการซื้อครั้งเดียวแล้วจบ แต่เป็นกรอบกว้างๆ เพื่อจัดหาวัคซีนให้ได้มากที่สุด ให้ประเทศไทยมีทางเลือกวัคซีนรุ่นใหม่ ยี่ห้อใหม่ ครอบคลุมสายพันธุ์เพิ่มเติมให้มากที่สุด หากประเทศผู้ผลิตต้นทางเกิดสถานการณ์การระบาดที่อาจมีการชะลอการจัดส่ง ทำให้ประเทศไทยมีทางออกในหลายทาง" นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติม