ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,887 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,439 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 597 ราย และ จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 2,835 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย
- มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 32 ราย เป็นเพศชาย 26 ราย เพศหญิง 6 ราย อายุเฉลี่ย 38-93 ปี ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ปอดเรื้อรัง มะเร็ง อ้วน และมีปัจจัยเสี่ยงจากสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว และผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า ไปสถานที่แออัด และมีอาชีพเสี่ยง
จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 93,794 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 87,572 ราย ตรวจคัดกรองเชิงรุกในเรือนจำ 2,835 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,432 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 60,615 ราย เพิ่มขึ้น 1,572 ราย กำลังรับการรักษา 32,661 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 518 ราย
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า การรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดใหม่ในวันนี้ ที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 4,887 รายนั้น เป็นผลจากการนำส่งรายงานการคัดกรองผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิด-19 ของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นการสรุปยอดรวมมาในครั้งเดียวที่ 2,835 ราย และวันนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม จะได้มีการแถลงข่าวรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของสถานการณ์โรคโควิดในทัณฑสถาน
ขณะที่ความหนาแน่นในการระบาด ยังคงอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ของประเทศที่เพิ่มขึ้นในวันนี้ โดยวันนี้ กทม.มีรายงานผู้ติดเชื้อ 1,069 ราย, สมุทรปราการ 194 ราย, ปทุมธานี 105 ราย, นนทบุรี 78 ราย ซึ่งในส่วนของกรุงเทพฯ นั้น ยังมีแนวโน้มการระบาดเพิ่มขึ้นในเขตต่างๆ ได้แก่ คือ เขตดินแดง, วัฒนา, ลาดพร้าว, พระนคร, ราชเทวี, สวนหลวง, ดุสิต, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, คลองเตย, จตุจักร และหลักสี่ ส่วนเขตที่มีแนวโน้มควบคุมการระบาดได้ คือ เขตปทุมวัน, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, สาทร และสัมพันธวงศ์
"ภาพรวมกรุงเทพฯ แนวโน้มการระบาดยังไม่ลดลง ซึ่งพบผู้ป่วยอาการหนัก และต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดสร้าง รพ.บุษราคัม เพื่อนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วขึ้น" โฆษก ศบค.ระบุ
ทั้งนี้ กลุ่มสัมผัสเสี่ยงจะได้แยกไปสังเกตอาการอยู่ใน 2 ส่วน คือ ทั้ง Local Quarantine และ Home Quarantine ซึ่งในส่วนของผู้ที่สังเกตอาการอยู่ใน Home Quarantine ขณะนี้ยังมีมากถึง 6 พันกว่าราย ส่วนใน Local Quarantine ยังเหลืออีก 226 ราย
"ตอนนี้คนที่กักตัวสังเกตอาการอยู่ที่บ้านมี 6,121 คน และอยู่ใน LQ อีก 226 คน ซึ่งทั้ง 6 พันกว่าคนที่ยังกักตัวอยู่ที่บ้าน ขอให้ทุกท่านให้ความสำคัญสูงสุดในการร่วมมือกับสำนักอนามัยของ กทม. เพื่อจำกัดเรื่องการแพร่กระจายเชื้อให้ได้" นพ.ทวีศิลป์ระบุ
สำหรับสถานการณ์การระบาดในประเทศ พบว่ามี 14 จังหวัดที่รายงานผู้ติดเชื้อเป็น 0 ราย คือ ลพบุรี, ตราด, ตาก, น่าน, กาฬสินธุ์, ชุมพร, พะเยา, อุตรดิตถ์, หนองคาย, อำนาจเจริญ, แม่ฮ่องสอน, หนองบัวลำภู, มุกดาหาร และสตูล
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขออนุญาต ศปก.ศบค. ในการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียน เพื่อดำเนินการเปิดรับนักเรียนในปีการศึกษา 2564 ทั้งในระดับประถมศึกษาปีที่ 1, มัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งศปก.ศบค.ได้เห็นชอบตามที่ สพฐ.เสนอมาในการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนเพื่อการจับฉลาก สอบคัดเลือก รายงานตัว มอบตัว และให้ดำเนินการตามมาตรการด้านสุขอนามัยที่ ศบค.กำหนด
โฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงกรณีพบทีมนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ติดเชื้อโควิด 22 รายแม้จะได้รับวัคซีนต้านโควิดเข็มแรกไปแล้วว่า การฉีดวัคซีนไม่ได้หมายความว่าฉีดแล้วจะไม่มีโอกาสติดเชื้อ แต่การฉีดวัคซีนจะช่วยให้ความรุนแรงของการเจ็บป่วยน้อยลง ลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงจนถึงเสียชีวิต ซึ่งกรณีของนักกีฬาวอลเลย์บอลทีมชาตินี้ ก็เป็นบทเรียนที่ทำให้เห็นแล้วว่าแม้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ หากไม่ระมัดระวังตัว เช่น ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย เป็นต้น
สำหรับส่วนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 161,080,616 ราย เสียชีวิต 3,345,018 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 33,586,136 ราย อันดับสอง อินเดีย 23,702,832 ราย อันดับสาม บราซิล 15,361,686 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,821,668 ราย และอันดับห้า ตุรกี 5,072,462 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 95