ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,256 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,523 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 545 ราย และ จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 183 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย ประกอบด้วย กัมพูชา 2 ราย มาเลเซีย 2 ราย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย
- มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 30 ราย เป็นเพศชาย 16 ราย เพศหญิง 14 ราย อายุเฉลี่ย 15-85 ปี อยู่ในกรุงเทพฯ 11 ราย ราชบุรี 4 ราย ปทุมธานีและสระแก้วจังหวัดละ 2 ราย สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สุโขทัย มหาสารคาม เชียงราย สุพรรณบุรี นนทบุรี ร้อยเอ็ด พัทลุง และสุราษฎร์ธานีจังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว อ้วน และ สูงอายุ และมีปัจจัยเสี่ยงจากสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว และผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า ไปสถานที่แออัด และอาชีพเสี่ยง ขับรถเท็กซี่
จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 96,050 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 89,595 ราย ตรวจคัดกรองเชิงรุก รวมในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 3,018 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,437 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 62,316 ราย เพิ่มขึ้น 1,701 ราย กำลังรับการรักษา 33,186 ราย อาการหนัก 1,203 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 408 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 548 ราย
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 1,087 ราย ปทุมธานี 157 ราย นนทบุรี 131 ราย สมุทรปราการ 121 ราย ชลบุรี 64 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 52 ราย สมุทรสาคร 46 ราย ระยอง 33 ราย พระนครศรีอยุธยา 29 ราย และนครศรีธรรมราช 25 ราย
ขณะที่มี 16 จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ ได้แก่ ลำพูน ลพบุรี สุรินทร์ ตราด ตาก น่าน กาฬสินธุ์ พะเยา เลย ชัยนาท หนองคาย แม่ฮ่องสอน หนองบัวลำภู บึงกาฬ อุทัยธานี และสตูล
โฆษก ศบค.กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข, กรุงเทพมหานคร, ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) และศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นจำนวนมาก โดยวันนี้พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 1,563 ราย สูงกว่า 3 เท่าตัวของจังหวัดอื่นๆ รวมกันที่มีจำนวน 505 ราย และผลตรวจหาเชื้อในพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 พ.ค.64 จำนวน 7,247 ราย พบติดเชื้อ 359 ราย หรือคิดเป็น 4.95%
"คนในพื้นที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังตัวให้มากขึ้น เพราะขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 5 ราย ใน 100 ราย" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ส่ำหรับผลตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ 9 เขตของกรุงเทพฯ พบว่า เขตดินแดง (ตลาดห้วยขวาง พบอัตราการติดเชื้อ 1.48% และแฟลตดินแดง พบอัตราการติดเชื้อ 3.26%) , เขตวัฒนา (แคมป์คนงาน 2 แห่งที่อยู่ติดกับ พบอัตราการติดเชื้อ 14.25%) , เขตคลองเตย (ชุมชนแออัด พบการติดเชื้อ 3.83%) , เขตหลักสี่ (แคมป์คนงาน พบการติดเชื้อ 21.99%) , เขตลาดพร้าว (บริษัทประกัน พบการติดเชื้อ 7.70%) , เขตราชเทวี (บริษัทไฟแนนซ์ พบอัตราการติดเชื้อ 17.30% และประตูน้ำ พบอัตราการติดเชื้อ 3.96%) , เขตพระนคร (ปากคลองตลาด พบอัตราการติดเชื้อ 5.58%) , เขตดุสิต (สี่แยกมหานาค/สะพานขาว/ตลาดผลไม้ พบอัตราการติดเชื้อ 3.52%) และ เขตสวนหลวง (ชุมชนโมราวรรณ พบอัตราการติดเชื้อ 8.85%)
ส่วนพื้นที่ที่มีแนวโน้มควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้แล้ว ได้แก่ เขตปทุมวัน (ชุมชนบ่อนไก่ พบผู้ติดเชื้อ 131 ราย) , เขตสาทร (บริษัทขายตรงในตึกเอ็มไพร์ พบผู้ติดเชื้อ 144 ราย) , เขตป้องปราบศัตรูพ่าย (ชุมชนวัดโสมนัส พบผู้ติดเชื้อ 68 ราย) , เขตสัมพันธวงศ์ (สำเพ็ง พบผู้ติดเชื้อ 81 ราย) และ เขตจตุจักร (บริษัทรถทัวร์ พบผุ้ติดเชื้อ 28 ราย)
ทั้งนี้ในช่วงวันที่ 14-16 พ.ค.64 มีแผนการตรวจหาเชื้อเชิงรุกพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ อีกวันละ 9,000 ราย ส่วนในต่างจังหวัดกระทรวงแรงงานได้ตั้งจุดตรวจให้บริการ 9 แห่ง ได้แก่ สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, นนทบุรี, ชลบุรี, ระยอง, ภูเก็ตสมุทรสาคร และ เชียงใหม่
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 161,824,477 ราย เสียชีวิต 3,358,513 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 33,626,097 ราย อันดับสอง อินเดีย 24,046,120 ราย อันดับสาม บราซิล 15,436,827 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,841,129 ราย และอันดับห้า ตุรกี 5,083,996 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 94