นายแพทย์
เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด
กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด 19 หน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้มีการใช้ชุดตรวจ และน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการตรวจหาเชื้อโควิด19 เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีการเพิ่มจำนวนการผลิตและนำเข้าจำนวนมาก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการสั่งซื้อและนำมาใช้งานไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ หรือมีการหลอกลวงตรวจหาเชื้อให้กับประชาชน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะมีการแปรผลผิดพลาด อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดต่อได้ ซึ่งชุดตรวจและน้ำยาตรวจหาเชื้อโควิด 19 จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ตามประกาศ
กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เครื่องมือแพทย์ที่ต้องขายเฉพาะแก่สถานพยาบาล หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข พ.ศ.2563 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และ มาตรา 6 (10) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ให้ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) เฉพาะแบบตรวจหาแอนติบอดีหรือแอนติเจน ผู้ผลิต นำเข้า หรือผู้ขายต้องขายให้เฉพาะสถานพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลเฉพาะทาง คลินิกเวชกรรม คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์หรือสหคลินิกที่จัดให้มีการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือเทคนิคการแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลเท่านั้น
โดยให้ ผู้ผลิต นำเข้า หรือผู้ขาย จัดทำรายงานเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทุกปีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป ซึ่งประกาศนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 18 เมษายน 2563 ทั้งนี้ รายการที่จะต้องขายให้เฉพาะสถานพยาบาล หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขนั้น รวมถึง ผลิตภัณฑ์ที่มีสมบัติหนืดสำหรับใช้ในกระบวนผ่าตัดตา, ผลิตภัณฑ์ฟอกสีฟัน, กรดไฮยาลูโรนิกชนิดฉีดเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของผิวหนัง, เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย และชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี ยกเว้นชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร โทร.02-2535000 ต่อ 353 อีเมล์: saowalak@infoquest.co.th--