นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัย ให้ทุกศูนย์อนามัยในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศจัดตั้งเป็นศูนย์ให้บริการฉีดวัคซีน สนับสนุนการดำเนินการของเขตสุขภาพและจังหวัด ซึ่งตั้งเป้าให้แต่ละศูนย์สามารถรองรับการฉีดวัคซีนได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 500 คน พร้อมทั้งปรับรูปแบบเชิงรุกเข้าไปในสถานประกอบการต่าง ๆ และในกลุ่มเสี่ยงที่ไม่สามารถเดินทางมาฉีดวัคซีนได้ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง โดยใช้ทีมแพทย์และรถโมบายเคลื่อนที่เข้าไปให้บริการครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
ซึ่งที่ผ่านมา มีศูนย์อนามัยที่ให้บริการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายแล้ว ได้แก่ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ศูนย์อนามัยที่ 9 อุบลราชธานี และศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช โดยให้บริการฉีดไปแล้วทั้งสิ้น 2,100 คน
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในทุก ๆ วัน ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายชัดเจนที่ต้องการให้คนไทยได้รับการฉีดวัคซีนครอบคลุมทั้งประเทศ 70% โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศไทย เนื่องจากวัคซีนที่ฉีดนั้นมีความปลอดภัยสูง ประสิทธิภาพสูง และมาตรฐานสูง แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน และประชาชนในกลุ่มเสี่ยง ระยะที่ 2 ฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคได้แก่ 1) โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง 2) โรคหัวใจและหลอดเลือด 3) โรคหลอดเลือดสมอง 4) โรคไตเรื้อรัง 5) โรคมะเร็งทุกชนิด 6) โรคเบาหวาน และ 7) โรคอ้วน ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย BMI มากกว่า 30 หรือมีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัมขึ้นไป และระยะที่ 3 ฉีดให้กับกลุ่มประชาชนทั่วไปอายุ 18-59 ปี
"ประชาชนที่ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม ถึงแม้จะมีภูมิคุ้มกันแล้วก็ตาม แต่ยังคงต้องปฏิบัติด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด ทั้งการสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกนอกบ้านทุกครั้ง ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์เมื่อไปสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ และการเว้นระยะห่างระหว่างกัน รวมถึงไม่เข้าไปในพื้นที่แออัดหรือเป็นพื้นที่เสี่ยงโรค" นพ.สุวรรณชัย กล่าว