พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินทางไปตรวจความพร้อมโรงพยาบาลสนาม กทม. แห่งที่ 6 เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด ณ วัดศรีสุดาราม เขตบางกอกน้อย โดยระบุว่า สถานการณ์การโรคไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีการระบาดเพิ่มขึ้นและเป็นวงกว้าง ดังนั้นเพื่อเป็นการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไปยังชุมชนในเขตกรุงเทพฯ และลดความแออัดของผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรงในการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล กรุงเทพมหานครจึงจัดตั้ง "โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 2" ขึ้นที่วัดศรีสุดารามวรวิหาร เขตบางกอกน้อย
โดยเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 6 สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 200 เตียง แบ่งเป็น ชาย 100 เตียง หญิง 100 เตียง โดยมีบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลราชพิพัฒน์เป็นผู้ดูแล และเริ่มเปิดรับผู้ป่วยตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันนี้เป็นต้นไป
"ได้รับความเมตตาจากพระเทพประสิทธิมนต์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เจ้าอาวาสวัดศรีสุดารามวรวิหาร ให้ใช้พื้นที่ของโรงเรียนพระปริยติธรรม วัดศรีสุดารามวรวิหาร เขตบางกอกน้อย เปิดให้เป็นหอผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง (โควิดเขียว)" ผู้ว่าฯ กทม.ระบุ
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากโรงพยาบาลต้องใช้เตียงสำหรับรักษาโรคอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ดี โรงพยาบาลสนามทุกแห่งมีแนวทางการจัดการความปลอดภัย การป้องกันการแพร่เชื้อมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลหลัก โดยจะรับดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย หากมีอาการเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้นจะส่งไปรักษาในโรงพยาบาลหลัก
โดยได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติของผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ได้แก่ ต้องอยู่ภายในหอพักผู้ป่วยห้ามออกจากห้องโดยเด็ดขาด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาลสนาม ห้ามบ้วนเสมหะหรือน้ำลายในถังขยะ เสื้อผ้าใส่ลงถังผ้าเปื้อน และปิดฝาให้เรียบร้อย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ ไม่เดินพลุกพล่าน ไม่จับกลุ่มสนทนา และไม่เข้าไปในเขตปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งไม่อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยมทุกกรณี แต่สามารถนำของเยี่ยมฝากไว้ได้ตามเวลาและสถานที่ทางโรงพยาบาลกำหนด ห้ามถ่ายภาพหรือโพสต์ข้อความที่เกี่ยวข้องลงบนสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายขณะรักษาตัว ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามเสพติดของมึนเมา และห้ามเล่นการพนัน
สำหรับผู้ป่วยที่จะเข้ารักษา ณ โรงพยาบาลสนาม ขอให้เตรียมพร้อมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับการมาอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม ได้แก่ เสื้อผ้า จำนวน 4-5 ชุด หรือพอดีกับจำนวนที่เข้าพัก 14 วัน ของใช้ในกิจวัตรประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู โฟมล้างหน้า แปรงสีฟัน ยาสีฟัน และของใช้อื่นๆ ที่จำเป็น โดยเฉพาะผ้าอนามัยสำหรับผู้หญิง ยารักษาโรคประจำตัว รวมทั้งข้อมูล ประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลเดิม (ถ้ามี) โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ ใช้สำหรับดาวน์โหลดแอปลิเคชั่นไลน์ ในการติดต่อหอผู้ป่วยในการสื่อสารขณะรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาลสนาม และหากจำเป็นต้องใช้น้ำร้อนสามารถนำกระติกน้ำร้อนมาเองได้ เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีบริการในส่วนนี้
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงจำนวนผู้ป่วยครองเตียงในโรงพยาบาลสังกัด กทม., โรงพยาบาลสนาม กทม. และ Hospitel มีจำนวนทั้งสิ้น 2,238 ราย ดังนี้
1.โรงพยาบาลสังกัด กทม. ทั้ง 8 แห่ง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 344 เตียง
2.โรงพยาบาลสนาม กทม. 5 แห่ง ปัจจุบันมีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วย จำนวน 2,042 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียง 1,435 เตียง ยังว่างอยู่ 610 เตียง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน รองรับได้ 1,000 เตียง ครองเตียง 548 เตียง เตียงว่าง 452 เตียง
- รพ.ราชพิพัฒน์ 200 เตียง ครองเตียง 203 เตียง (เสริม 3 เตียง)
- รพ.เอราวัณ 1 (ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ บางบอน) 100 เตียง ครองเตียง 83 เตียง เตียงว่าง 17 เตียง
- รพ.เอราวัณ 2 (บางกอกอารีนา) 400 เตียง ครองเตียง 288 เตียงว่าง 112 เตียง
- รพ.เอราวัณ 3 (สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ บางมด) 342 เตียง ครองเตียง 313 เตียง เตียงว่าง 29 เตียง
3. Hospitel จำนวน 5 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 778 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 459 เตียง ยังว่างอยู่ 322 เตียง มีรายละเอียด ดังนี้
- รพ.กลาง (อาคารหอพัก) 88 เตียง ครองเตียง 91 (เสริม 3 เตียง)
- โรงแรมเออริแกนแอพอร์ต 280 เตียง ครองเตียง 154 เหลือ 126 เตียง
- โรงแรมบ้านไทยบูทีค 280 เตียง ครองเตียง 140 เหลือ 140 เตียง
- โรงแรมข้าวสาร พาเลส 90 เตียง ครองเตียง 52 เหลือ 38 เตียง
- อาคารพัชรกิติยาภา ม.นวมินทราชูทิศ 40 เตียง ครองเตียง 22 เหลือ 18 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 18 พ.ค. 64)