กทม.ใช้แนวทาง Bubble and Seal คุมโควิดแพร่ระบาดในแคมป์คนงาน-ตลาดสด

ข่าวทั่วไป Thursday May 20, 2021 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กทม.ใช้แนวทาง Bubble and Seal คุมโควิดแพร่ระบาดในแคมป์คนงาน-ตลาดสด

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า ในขณะนี้พบการแพร่ระบาดในพื้นที่แคมป์คนงานก่อสร้าง 3 จุดใหญ่ คือ ที่เขตหลักสี่ 1 จุด และเขตวัฒนา 2 จุด โดยเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานครได้นำแนวทางการควบคุมโรคจากจังหวัดสมุทรสาครมาใช้ คือมาตรการการควบคุมโรคลักษณะ Bubble and Seal ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเจ้าของแคมป์คนงานก่อสร้าง ในการควบคุมพื้นที่เพื่อให้คนงานทั้งหมดอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายออกไปสู่ภายนอก ควบคู่ไปกับการตรวจ rapid test โดยหลังจากนี้ 14 วัน และหากพบผู้ป่วยที่มีอาการ จะนำออกมาส่งต่อไปยังสถานพยาบาลเพื่อทำการรักษา

ทั้งนี้ พบว่าภาพรวมคนงานก่อสร้างในแคมป์คนงานทั้งหมดเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ยังคงสามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งกรุงเทพมหานครจะเข้าไปให้ความรู้แก่เจ้าของและผู้ดูแลแคมป์คนงาน เพื่อให้มีความเข้าใจในการปฏิบัติตนตามสุขลักษณะที่ดี รวมทั้งดำเนินการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ชุมชนโดยรอบแคมป์คนงาน ซึ่งมี 6 ชุมชน คาดว่าภายใน 1-2 วันนี้จะครบทุกชุมชน สำหรับแคมป์คนงานที่เขตวัฒนาทั้ง 2 จุด ได้ส่งผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาทั้งหมดแล้ว และผู้ที่ไม่ติดเชื้อได้จัดให้มีพื้นที่แยกกักตัวเพื่อสังเกตอาการต่อไป

ด้านนางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในชุมชนพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่พบการระบาดในชุมชนใจกลางกรุงเทพฯ ในส่วนการระบาดของชุมชนคลองเตย ได้ดำเนินการคัดกรองเชิงรุกไปแล้ว 39 ชุมชนเสี่ยง จำนวน 34,130 คน พบผู้ติดเชื้อ 1,555 คน โดยพบว่า 3 ชุมชนมีการติดเชื้อสูงและมีความเชื่อมโยงกับตลาด

ซึ่งในพื้นที่ชุมชนได้นำหลักการ Community Isolation คือ ชาวชุมชนควบคุมดูแลผู้ป่วยในบ้าน/ชุมชนเอง กรุงเทพมหานครจึงได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำแนะนำและร่วมดูแล พบว่าประสบผลสำเร็จดี

"จากนี้ กรุงเทพมหานครจะนำหลักการเดียวกันนี้มาใช้ในการดูแลผู้ติดเชื้อในตลาด ร่วมกับการใช้มาตรการ Bubble and Seal เช่นเดียวกับแคมป์คนงาน โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เพื่อดูแลให้มีการเข้าออกพื้นที่ให้น้อยที่สุด ไม่ได้มีการปิดพื้นที่แต่อย่างใด นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิ องค์กรจะเข้าไปดูแลเรื่องอาหารสำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ จากนั้นจะมีการฉีดวัคซีนให้คนกลุ่มนี้เพื่อป้องกันและควบคุมโรคต่อไป" ผอ.สำนักอนามัยระบุ

ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม รวม 150,090 ราย ผู้ที่ได้รับเข็มที่ 1 รวม 219,642 ราย รวมวัคซีนที่ฉีดไปแล้ว จำนวน 519,822 โดส (ข้อมูล ณ วันที่ 20 พ.ค.64 เวลา 08.00 น.)

ส่วนแนวทางการให้บริการวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่มีความเสี่ยง โดยกลุ่มเป้าหมายนี้ รวมถึงบุคลากรที่ต้องทำหน้าที่ประจำโรงพยาบาลสนาม และสถานที่กักตัวต่างๆ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในขณะนี้ด้วย นอกจากนี้ ได้ฉีดให้แก่กลุ่มอาชีพเสี่ยงผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ ที่ในแต่ละวันต้องมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก และจะเพิ่มในส่วนของพนักงานขนส่งในกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเมื่อครบตามที่กำหนดจะขยายการให้บริการไปยังกลุ่มอื่นต่อไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลจะจัดจัดสรรวัคซีนให้กรุงเทพมหานครเพิ่มเติม เนื่องจากพบว่ามีหลายคลัสเตอร์ที่มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรค โดยในเดือนมิ.ย.คาดว่าจะได้รับจัดสรรวัคซีนประมาณ 2.5 ล้านโด้ส และเดือนก.ค. คาดว่าจะได้รับการจัดสรรวัคซีนเพิ่มอีก 2.5 ล้านโดส กรุงเทพมหานครจึงจำเป็นต้องเร่งการให้บริการฉีดวัคซีน โดยจะขยายการให้บริการครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายประชาชนทั่วไป อายุ 18 ปี - 59 ปี 10 เดือน เพื่อรับวัคซีน ณ หน่วยบริการวัคซีนนอกโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดแนวทางและการพัฒนาระบบการจองให้มีประสิทธิภาพ และเปิดกว้างเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มให้ได้มากที่สุด

สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุ 60 ปี และประชาชนกลุ่ม 7 โรคเสี่ยงที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมและช่องทางอื่นๆ ไปแล้ว ขอให้เข้ารับการฉีดวัคซีน ณ โรงพยาบาลที่จัดให้เท่านั้น เนื่องจากประชาชนกลุ่มนี้ จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคีเครือข่ายสถานพยาบาลได้เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนสำหรับกลุ่มเป้าหมายประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มเป้าหมายประชาชน 7 กลุ่มโรคเสี่ยงในเดือนมิ.ย. โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ มีสถานพยาบาลที่จะให้บริการ รวมจำนวนทั้งสิ้น 126 แห่ง ยอดการรับจองวัคซีนขณะนี้ จำนวน 400,000 คน

สำหรับการให้บริการกลุ่มเป้าหมายอื่น เพื่อให้การบริการเป็นไปตามเป้าหมาย กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดให้บริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล จำนวน 25 จุด ซึ่งจะบริหารจัดการการให้บริการให้เป็นอย่างมีคุณภาพ ภายใต้มาตรฐานที่กำหนดอย่างเคร่งครัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ