ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,481 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,644 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 874 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 951 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย มาจากกัมพูชา 11 ราย และอียิปต์ 1 ราย
- มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 32 ราย เป็นเพศชาย 17 ราย เพศหญิง 15 ราย อายุระหว่าง 21-93 ปี จากกรุงเทพมหานคร 15 ราย นนทบุรี 6 ราย สมุทรสาคร 2 ราย นครปฐม พัทลุง สุรินทร์ นครราชสีมา ยะลา สมุทรปราการ ร้อยเอ็ด พังงา และนครศรีธรรมราช จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันสูง ไตเรื้อรัง อ้วน และมีปัจจัยเสี่ยงจากสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว เข้าไปในพื้นที่ระบาด และอาชีพเสี่ยง
จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 123,066 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 79,504 ราย เพิ่มขึ้น 2,868 ราย กำลังรับการรักษา 42,827 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 735 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดอันดับแรกที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุดระลอกใหม่วันนี้ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 1,036 ราย สมุทรปราการ 457 ราย นนทบุรี 163 ราย ปทุมธานี 162 ราย ชลบุรี 127 ราย เพชรบุรี 77 ราย ระนอง 54 ราย ตาก 45 ราย สมุทรสาคร 40 ราย สงขลา 36 ราย
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ทางกทม.ได้มีการนำเสนอจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมต่อประชากรพันคน รายเขต (22 เม.ย.-20 พ.ค.) พบว่า ส่วนใหญ่มีการระบาดในใจกลางกทม. ได้แก่ คลองเตย ราชเทวี ปทุมวัน บางรัก ป้อมปราบศัตรูพ่าย หลักสี่ ดินแดง
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดมีรายงานใน 35 คลัสเตอร์ กระจายใน 23 เขต โดยมีกลุ่มก้อนการระบาดที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุด ประกอบด้วย ที่พักคนงานก่อสร้าง ทั้งในเขตหลักสี่ ดอนเมือง และคลองเตย ชุมชนแออัดรอบตลาด เขตคลองเตย ชุมชนแออัดตลาดห้วยขวาง เขตดินแดง ชุมชนตลาดพลอยบางรัก เขตบางรัก ชุมชนแออัดตลาดบางกะปิ เขตบางกะปิ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ศูนย์บูรณาแก้ไขสถาการณ์โควิดในกทม.และปริมณทล ร่วมกับคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการ และคณะกรรมการที่ปรึกษาศบค. ได้ร่วมมือทำงานกับทุกภาคส่วน ทั้งกทม. กรมควบคุมโรค โดยให้มีการตรวจสุขอนามัยในที่พักคนงานที่ยังไม่มีการติดเชื้อ ควบคุมไม่ให้มีการเดินทางข้ามเขตระหว่างที่พักคนงาน / ให้มีการจัดระเบียบตลาด ร้านค้าในชุมชน / ดูแลสุขอนามัยของร้านอาหาร และผู้ส่งอาหารตามบ้าน / จัดระเบียบการเดินทางขนส่งสาธารณะทุกประเภท และเน้นย้ำมาตรการ WFH ว่าได้มีการปฏิบัติตามอย่างจริงจังในทุกหน่วยงานหรือไม่
นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้ยกตัวอย่างการควบคุมการแพร่ระบาดที่อู่ฮั่น ประเทศจีน ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรค ซึ่งมียุทธศาสตร์ 4 ข้อ 1.ในพื้นที่ที่ยังไม่มีการระบาดต้องมีการป้องกันอย่างเข้มงวดไม่ให้มีการนำเชื้อเข้ามาในพื้นที่ 2.พื้นที่ที่เริ่มมีผู้ป่วย ให้ใช้มาตรการการค้นหาควบคุมการระบาดในพื้นที่ ไม่ให้มีการแพร่เชื้อออกไป 3.พื้นที่ที่มีการระบาดเป็นกลุ่ม ต้องมีการควบคุมแพร่โรคให้ได้มากที่สุด และป้องกันการแพร่ไปยังที่อื่น และต้องให้การรักษาโรคให้ดีที่สุด 4.พื้นที่ที่มีการระบาดอย่างมาก ให้ใช้ยุทธศาสตร์การดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก และควบคุมการแพร่เชื้อด้วยการอยู่ที่บ้านเป็นหลัก โดยขอให้นำข้อมูลตรงนี้มาบูรณาการในการบริหารการจัดการเตียง อุปกรณ์เวชภัณฑ์ และให้ทุกภาคส่วนมาช่วยกันบริหารจัดการให้ดีที่สุด
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นต่อจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันที่มีจำนวนสูงขึ้น ซึ่งไม่ต้องการให้มีการสูญเสียเกิดขึ้นแม้แต่รายเดียว โดยขอให้ฝ่ายการแพทย์ของกทม. กรมการแพทย์ คณะแพทย์ของมหาวิทยาลัย รวมถึงแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน ร่วมกันวางยุทธศาสตร์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุดด้วย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมศบค.ได้รับทราบแผนกระจายวัคซีนพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ ผ่าน 3 ช่องทาง คือ 1.ระบบหมอพร้อม 2.ลงทะเบียน ณ จุดบริการ 3.กระจายวัคซีนให้กลุ่มเฉพาะ โดยจะเริ่มการฉีดทั้งระบบให้กับบุคลกรทางการแพทย์และสาธาณสุขด่านหน้า ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน / เจ้าหน้าที่อื่นด่านหน้า และกลุ่มอาชีพเสี่ยงติดเชื้อ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง / ตัวแทนนักกีฬาที่ไปแข่งขันต่างประเทศ / นักเรียน นักศึกษาไปศึกษาต่างประเทศ / วัยทำงานผู้มีสิทธิประกันสังคม / ประชาชนทั่วไป
ส่วนผู้ที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในกลุ่มดังกล่าว นายกรัฐมนตรี ยืนยัน ไม่มีการทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
พร้อมกับมีการกำหนดจุดบริการฉีดวัคซีนในกทม. โดยตั้งเป้าไว้ที่ 80,000 คนต่อวัน กระจายฉีดในโรงพยาบาล 126 แห่ง โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หน่วยบริการเชิงรุก และหอการค้า 25 จุด ส่วนในต่างจังหวัดตั้งไว้ที่ 779,868 คนต่อวัน กระจายจุดฉีดในโรงพยาบาล 993 แห่ง โรงพยาบาลสนา 261 แห่ง และ On-site Registration 221 แห่ง
โดยจะมีระบบหมอพร้อมเป็นแกนกลางในวางแผนเก็บข้อมูลและติดตามผลของการฉีดว่ามีผลข้างเคียงหรือไม่ รวมถึงการออกใบรับรองในการฉีดวัคซีน
ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ได้ดำเนินการฉีดไปแล้ว 2,648,256 โดส แยกเป็น เข็มแรก 1,726,431 ราย และเข็มสอง 921,825 ราย
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 165,842,599 ราย เสียชีวิต 3,444,656 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 33,833,181 ราย อันดับสอง อินเดีย 26,030,674 ราย อันดับสาม บราซิล 15,898,558 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,568,551 ราย และอันดับห้า ตุรกี 5,160,423 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 91