ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,226 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,142 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 1,183 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 882 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 19 ราย เดินทางมาจากอินเดีย 3 ราย โดย 1 ในนั้นเป็นนักการทูต สัญชาติอินเดียที่เดินทางเข้ามาปฎิบัติหน้าที่, ซาอุดิอาระเบีย 7 ราย กัมพูชา 2 ราย อียิปต์ อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา ประเทศละ 1 ราย และ มาเลเซีย 4 ราย ยังพบเป็นการเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ 1 ราย
อย่างไรก็ดี ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง รายงานการจับกุมการเคลื่อนย้ายแรงงานผิดกฎหมายว่า ข้อมูลของวันที่ 25 พ.ค.64 มียอดรวม 151 ราย
- มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 26 ราย เพศชาย 15 ราย หญิง 11 ราย อายุเฉลี่ย 36-88 ปี โดย 5 ราย ไม่มีโรคประจำตัว, และติดจากผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้าถึง 13 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 135,439 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 89,194 ราย เพิ่มขึ้น 3,094 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 832 ราย
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้มีการหารือเรื่องการเปิดรับคนไทยกลับบ้าน ซึ่งในส่วนของ จ.สระแก้ว เสนอที่จะเปิดด่านทั้ง 5 วัน เพื่อทำให้ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองลดลงด้วย
สำหรับยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นวันนี้ ยังสูงอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ถึง 872 ราย ซึ่งปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ถึง 33 แห่ง รองลงมา คือ จ.นนทบุรี 590 ราย จากคลัสเตอร์คนงานก่อสร้าง, จ.เพชรบุรี 227 ราย และ จ.สมุทรปราการ 126 ราย ซึ่งทั้ง 4 จังหวัดดังกล่าว ถือว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับสูงกว่า 100 คนต่อวันขึ้นไป
นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ยังได้หารือถึงกรณีพบการติดเชื้อโควิดในสถานดูแลผู้สูงอายุถึง 3 แห่ง ในเขตบางแค รวมทั้งหมด 22 ราย ซึ่งเป็นทั้งผู้สูงอายุ และคนดูแล โดยแห่งแรก ติดเชื้อ 16 ราย แห่งที่ 2 และแห่งที่ 3 ติดเชื้อแห่งละ 3 ราย เบื้องต้นสำนักงานเขตบางแค พร้อมคณะกรรมการโรคติดต่อของพื้นที่ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือในการแยกผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงส่งรักษาตัวในรพ. ส่วนผู้สูงอายุและผู้ดูแลที่ผลตรวจเป็นลบ ก็ได้แนะนำให้มีการแยกพื้นที่ และจะต้องมีการตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้ง
ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในสถานดูแลผู้สูงอายุ มาจากผู้ดูแลที่เดินทางไป-มา ระหว่างสถานดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่งกับอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีพนักงานทำความสะอาด รวมทั้งสถานดูแลผู้สูงอายุดังกล่าวยังมีการอนุญาตให้ญาติมาเยี่ยมได้ ตลอดจนการระบายอากาศในสถานที่ยังไม่ดีเพียงพอ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นโอกาสเสี่ยงที่ทำให้เกิดการนำเชื้อเข้ามาสู่สถานดูแลผู้สูงอายุได้
พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิดในแคมป์คนงานก่อสร้าง ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งพบว่าในกรุงเทพฯ มีแคมป์คนงานก่อสร้างมากถึง 409 แห่ง คิดเป็นคนงานรวมกว่า 62,000 คน ซึ่งได้มีแผนที่จะระดมตรวจหาเชื้อเชิงรุกแก่คนงานก่อสร้างทั้งหมด โดยในส่วนของสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จะตรวจเอง 12,000 คน ส่วนที่เหลืออีก 50,000 คน จะได้รับการสนับสนุนการตรวจหาเชื้อจากสำนักงานประกันสังคม
"การพบการติดเชื้อในแคมป์คนงานทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงต้องปรับแผนเพิ่มการเฝ้าระวังเป็นระบบ ตรวจคัดกรองให้เร็วขึ้น ซึ่งอาจจะตรวจแบบการใช้ตัวอย่างน้ำลาย รวมทั้งการเก็บตัวอย่างของเสียจากน้ำทิ้ง เป็นต้น" ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ระบุ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือร่วมกันโดยเสนอจะให้มีการจัดสถานที่ดูแลรักษาที่เหมาะสม ภายในแคมป์คนงานก่อสร้างเอง แทนที่จะต้องย้ายผู้ป่วยที่ไม่มีอาการออกไปอยู่ รพ.สนาม ซึ่งจะได้มีการหารือในรายละเอียดต่อไป
ด้านสถานการณ์ระบาดในคลัสเตอร์ตลาดอินเตอร์มาร์ท หรือตลาดแอร์ ใน อ.เมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งพบผู้ติดเชื้อแล้ว 22 ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงอีก 177 รายนั้น ทางจังหวัดได้สั่งปิดตลาดแล้ว รวมทั้งปิดหอพักโดยรอบตลาด สั่งงดการเดินทางข้ามพื้นที่ ซึ่งเมื่อวานนี้มีการตรวจหาเชื้ออีกประมาณ 500 ราย และยังอยู่ระหว่างรอผลตรวจ
ส่วนที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นการติดเชื้อในคอนโดฯ นั้น ผลการตรวจคัดกรองและสอบสวนโรค พบว่ามีต้นตอมาจากผู้ติดเชื้อรายแรกที่เป็นพนักงานโรงงานปลากระป๋อง ใน จ.สมุทรปราการ ซึ่งขณะนี้มีการตรวจหาเชื้อไปแล้ว 350 ราย พบผู้ติดเชื้อ 22 ราย ในขณะที่ผู้สัมผัสเสี่ยง ได้รับคำแนะนำให้กักตัวเพื่อเฝ้าสังเกตอาการแล้ว
"ศบค.ชุดเล็ก ได้เน้นย้ำในเรื่องการเฝ้าระวัง และการควบคุมโรค ป้องกันไม่ให้มีการระบาดในจุดที่ยังไม่เกิดเหตุ" ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ระบุ
สำหรับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 167,985,857 ราย เสียชีวิต 3,487,040 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 33,922,937 ราย อันดับสอง อินเดีย 26,947,496 ราย อันดับสาม บราซิล 16,121,136 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,605,895 ราย และอันดับห้า ตุรกี 5,194,010 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 86