สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี "สภาพจิตใจของคนไทยในยุคโควิด-19" กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,713 คน สำรวจวันที่ 24-27 พฤษภาคม 2564 พบว่า ประชาชนรู้สึกเครียดและวิตกกังวลมากที่สุด ร้อยละ 75.35 รองลงมาคือรู้สึกแย่ สิ้นหวัง ร้อยละ 72.95
สิ่งที่ทำให้สภาพจิตใจแย่ลง คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงมากขึ้น ร้อยละ 88.33, สภาพเศรษฐกิจตกต่ำทำมาหากินลำบาก ร้อยละ 74.53 วิธีการดูแลสภาพจิตใจ คือ การใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง มีสติ ร้อยละ 91.03, ศึกษาวิธีป้องกันดูแลด้วยตัวเอง ร้อยละ 60.82
สิ่งที่อยากให้รัฐบาล/หน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชนเข้ามาช่วยมากที่สุด คือ เร่งการฉีดวัคซีนโดยเร็ว ร้อยละ 74.96% เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ร้อยละ 60.52 จากปัญหาที่เกิดขึ้นโดยภาพรวมประชาชนพยายามอดทน แก้ปัญหาเพื่อให้อยู่ได้ ร้อยละ 41.97
จากผลโพลที่สำคัญพบว่า ประชาชนรู้สึก"ท้อถอยที่สุด/เกินจะรับมือได้" ร้อยละ 3.79 หากเทียบเป็นประชาชน 100 คน จะมีประชาชนเกือบ 4 คน ที่รู้สึกรับมือกับปัญหาต่อไปไม่ไหว ปัญหาโควิด-19 ทำให้กระทบต่อรายได้ การทำมาหากินจนทำให้เกิดความเครียดหนัก ซึ่งตั้งแต่เกิดโควิด-19 ระบาด อัตราการฆ่าตัวตายของประชาชนก็เพิ่มสูงขึ้นคล้ายกับช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งอีกด้วย สัญญาณนี้รัฐบาลไม่ควรจะนิ่งเฉยควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือดูแลสภาพจิตใจของกลุ่มเปราะบางโดยเร็ว