ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,485 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,205 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 2,270 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,953 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 57 ราย จากกัมพูชา 55 ราย มัลดีฟส์ 1 ราย รัสเซีย 1 ราย
- มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย เป็นเพศชาย 12 ราย และเพศหญิง 7 ราย อายุระหว่าง 46-88 ปี เป็นชาวกรุงเทพมหานคร 12 ราย นอกนั้นจากกาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครราชสีมา สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เบาหวาน และมีปัจจัยเสี่ยงจากสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว ไปสถานที่แออัด เดินทางเข้าไปในพื้น่ระบาด และอาชีพเสี่ยง
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค.กล่าวว่า 10 จังหวัดอันดับแรกที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุดระลอกใหม่ ณ วันที่ 30 พ.ค.64 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 1,356 ราย เพชรบุรี 555 ราย สมุทรปราการ 358 ราย สระบุรี 327 ราย ปทุมธานี 211 ราย นนทบุรี 90 ราย ตรัง 76 ราย ชลบุรี 62 ราย ฉะเชิงเทรา 62 ราย สมุทรสาคร 58 ราย
ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวถึง ผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์ในแต่ละจังหวัด พบว่า ในสมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อที่โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปจากสัตว์น้ำเนื้อสัตว์ ซึ่งที่ทั้งคนงานไทยและเมียนมา ทั้งในคอนโดมิเนียม ในตลาดสำโรง ชุมชนเคหะบางพลี ในส่วนปทุมธานี พบผู้ติดเชื้อตลาดแอร์ รวมทั้งในโรงงานแปรรูปไก่ ที่ลำลูกกา ซึ่งมีทั้งคนงานไทย เมียนมา และกัมพูชา
สำหรับสระบุรี พบผู้ติดเชื้อที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ ซึ่งมีทั้งคนงานไทย เมียนมา และกัมพูชา ในส่วนเพชบุรี ยังติดตามที่โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีคนงานหลายสัญชาติรวมทั้งอินเดียและจีน ส่วนตรัง พบผู้ติดเชื้อในโรงงานผลิตถุงมือ และพบการแพร่ระบาดไปยังชุมชนต่อเนื่อง ส่วนชลบุรี พบผู้ติดเชื้อที่ชุมชนบางทราย อ.เมือง ซึ่งมีทั้งคนงานไทย เมียนมา และกัมพูชา อ.ศรีราชาในตลาดสด ส่วนฉะเชิงเทรา พบในโรงงานชำแหละไก่ ซึ่งมีแรงงานอาศัยร่วมกันหลายเชื้อชาติ
ทั้งนี้ที่ประชุม ได้หารือถึงโรงงานผลิตอาหาร เช่นที่โรงงานชำแหละไก่ ที่พบผู้ติดเชื้อในจังหวัดฉะเชิงเทรา สระบุรีและปทุมธานี ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า พนักงานในโรงงาน อาศัยในที่พักเดียวกัน จึงทำให้เกิดการแพร่เชื้อ หรืออาจมาจากผู้ที่ดูแลคนงานและพาแรงงานนำส่งไปยังโรงงานต่างๆ ดังนั้นจะต้องไปดูมาตรการในการดูแลคนงานและต้องมีการหารือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหามาตรการให้โรงงานมีความปลอดภัย นำไปสู่สินค้าที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
สำหรับกทม. ได้เฝ้าระวังคลัสเตอร์ใหม่ ที่ แคมป์คนงานก่อสร้างเขตบางนา และชุมชนแห่งหนึ่งในเขตสาทร ขณะเดียวกันมีหลายคลัสเตอร์ที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้นและไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม และเขตที่ยังไม่มีการรายงานคลัสเตอร์ใหม่ ได้แก่ เขตวังทองหลาง ลาดกระบัง บึงกุ่ม สะพานสูง พระโขนง คันนายาว ตลิ่งชัน พญาไทบางกอกใหญ่ จอมทอง ธนบุรี ราษฎร์บูรณะ บางบอน หนองแขม บางขุนเทียน สายไหม ส่วนเขตคลองสานวันนี้ ตรวจพบผู้ติดเชื้อจากการคัดกรอง ที่ชุมชนคลองต้นไทรบางลำภูล่าง พบติดเชื้อ 30 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กทม.ได้สำรวจตลาดทั้งหมดพบว่า ได้ลงทะเบียนไว้รวมทั้งสิ้น 486 ตลาด ซึ่งกทม. ได้ลงพื้นที่ทำการตรวจคัดกรองเชิงรุกและมีการตั้งจุดตรวจกระจายตามจุดต่างๆ ซึ่งยังคงพบว่า มีพื้นที่สีแดงที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยที่ประชุมมีความเป็นห่วงและขอให้ กทม. พิจารณาว่า จะต้องขอความช่วยเหลือในการระดมการตรวจในพื้นที่ไหนอย่างไร
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ส่วนที่มีประชาชนสอบถามถึงคลัสเตอร์ ในเขตห้วยขวางนั้น ขอย้ำว่า ได้พบผู้ติดเชื้อในชุมชนโรงปูนและแคมป์ก่อสร้าง ไม่ใช่ที่ตลาดห้วยขวาง พร้อมกับเน้นย้ำว่า ตลาดในชุมชนควรมีความร่วมมือกันในการช่วยเหลือให้ทุกอย่างเป็นไปตามมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อให้เกิดความปลอดภัย
ส่วนสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย ล่าสุดจนถึงวันที่ 30 พ.ค.64 จัดสรรวัคซีนทั้งหมด 3,609,882 โดส แบ่งเป็น ผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 2,498,929 ราย ส่วนผู้ได้รับวัคซีนครบทั้งสองเข็มแล้ว 1,110,953 ราย
ส่วนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 171,029,617 ราย เสียชีวิต 3,556,677 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 34,043,068 ราย อันดับสอง อินเดีย 28,046,957 ราย อันดับสาม บราซิล 16,515,120 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,666,113 ราย และอันดับห้า ตุรกี 5,242,911 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 82