นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยแผนการกระจายวัคซีนว่า ในเดือน มิ.ย.จะมีการฉีดวัคซีนตามแผนหลัก โดยมีการจัดหาวัคซีนมาฉีดเพิ่มเติม ขณะนี้มีการกระจายวัคซีนที่ได้รับในสัปดาห์นี้จากแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว เมื่อเช้า 1.8 ล้านโดส รวมกับ 2 แสนโดสแรก รวมเป็นวัคซีนของแอสตร้าฯ 2 ล้านโดส ซึ่งได้จัดระบบการส่ง โดย 2 แสนแรกจะส่งไปจังหวัดต่างๆ และเมื่อตอนนี้มี 1.8 ล้าน ก็จะส่งไปยังจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนของซิโนแวก อีก 1.5 ล้านโดส ดังนั้นจึงเท่ากับมีวัคซีนอยู่ในมือที่จะเริ่มฉีดตั้งแต่ 7 มิ.ย.แล้ว 3.54 ล้านโดส ที่จะกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ต่อไป จากนั้นในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน มิ.ย. จะมีอีกอย่างน้อย 8.4 แสนโดส และสัปดาห์ที่ 4 อีก 2.58 ล้านโดส อย่างไรก็ดี จำนวนวัคซีนดังกล่าวเป็นการหารือในเบื้องต้นกับบริษัท ซึ่งอาจจะมีการเพิ่มหรือลดได้ขึ้นอยู่กับกำลังการผลิต ดังนั้นในภาพรวมของเดือนมิ.ย. จะมีวัคซีนมากกว่า 6 ล้านโดส ซึ่งเป็นไปตามแผนที่ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกันวางระบบไว้
"จะเห็นว่า ถ้าเรามียอด 6 ล้านโดสในเดือนมิ.ย. และอีก 4 ล้านโดสที่ฉีดไปก่อนหน้าเดือนพ.ค. ทำให้ถึงปลายเดือนนี้ จะสามารถฉีดให้กับประชาชนได้รวม 10 ล้านโดส คิดว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างดี สามารถควบคุมการระบาดได้" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า แผนการกระจายวัคซีนดังกล่าว สามารถปรับเปลี่ยนได้ในแต่สัปดาห์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง โดยเมื่อผลิตครบ ก็จะส่งมอบ และกระจายทันที โดยแผนที่วางไว้ในเดือนมิ.ย.นี้ รมว.สาธารณสุข ให้แนวทางไว้ว่าจะพยายามกระจายให้ต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เมื่อใดที่มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศไทยได้ ก็ให้ทบทวนและดูจำนวนที่ผลิตได้ และกระจายไปอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการกระจายวัคซีนที่มีอยู่ 6 ล้านโดสในเดือน มิ.ย.นั้น อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี และ ศบค. รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข ได้ตกลงในหลักการร่วมกันไว้ คือ 1.แต่ละจังหวัดต้องมีวัคซีนทั้งซิโนแวก และแอสตร้าฯ ให้ประชาชนเฉลี่ยเป็นพื้นฐานตามจำนวนประชากรในจังหวัดนั้นๆ รวมถึงประชากรแฝงด้วย 2.จังหวัดที่มีการระบาดรุนแรง เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล, เพชรบุรี จะได้รับวัคซีนเพิ่มเติมให้ เพื่อควบคุมการระบาดในจังหวัดนั้นๆ รวมทั้งบางกลุ่มเป้าหมายที่มีการระบาด เช่น ในเรือนจำ เป็นต้น
และ 3.จังหวัดที่เป็นกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่น จังหวัดชายแดน, จังหวัดที่มีแรงงานจำนวนมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งจังหวัดท่องเที่ยวเพื่อรองรับการเปิดรับนักท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต ที่ขณะนี้มีผู้ฉีดวัคซีนถึง 50% ของจำนวนประชากรในจังหวัด ซึ่งถือเป็นอัตราส่วนของจังหวัดที่มีผู้รับวัคซีนสูงสุดในประเทศขณะนี้ นอกจากนี้ ยังจัดสรรวัคซีนให้สำนักงานประกันสังคม ในเดือนมิ.ย.อีก 1 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับผู้ประกันตน, การจัดสรรให้กับกรุงเทพมหานคร 1 ล้านโดส และจัดสรรให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ อีก 5 แสนโดส รวมทั้งหมดเป็น 2.5 ล้านโดสในพื้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนมิ.ย. ที่จะได้รับการจัดสรรวัคซีนที่เพียงพอต่อการควบคุมการระบาด
นพ.โอภาส ยังย้ำว่า ผู้ที่ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนกับระบบหมอพร้อม และได้รับการนัดหมายฉีดวัคซีนในวันที่ 7, 8, 9 มิ.ย.นี้ จะได้รับการฉีดวัคซีนแน่นอน ไม่เลื่อน ขอให้ไปติดต่อกับสถานพยาบาลที่จองรับวัคซีนไว้
อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่า วัคซีน 2 ชนิด ที่ฉีดให้กับประชาชนอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวก หรือแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการรับรองแล้วจากทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าเป็นวัคซีนที่ใช้ได้ในภาวะฉุกเฉินเหมือนกันทั่วโลก และคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ ยังระบุว่าวัคซีนทั้ง 2 ชนิด สามารถฉีดได้กับประชาชนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จนถึงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปได้ ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลให้สามารถบริหารจัดการวัคซีนได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ ตามแผนการจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดสในปีนี้ตามเป้าหมายนายกรัฐมนตรีนั้น ขณะนี้มีวัคซีนจากซิโนแวกแล้ว 6 ล้านโดส และได้ลงนามในสัญญากับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) อีก 61 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้ส่งมอบแล้ว 2 ล้านโดส รวมที่จัดหาได้แล้ว 67 ล้านโดส ยังขาดอีก 33 ล้านโดส ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบนโยบายไว้ว่าให้จัดหาเพิ่มเติม โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการลงนามในสัญญาคำสั่งจองวัคซีนกับบริษัท ไฟเซอร์ ซึ่งคาดว่าจะได้ลงนามกันในสัปดาห์หน้า
นอกจากนี้ สำหรับวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนเตรียมร่างสัญญาลงนามจองวัคซีน ซึ่งคาดว่าจะได้รับมาอีก 25 ล้านโดส ดังนั้นเมื่อรวมกับแผนการจัดหาวัคซีนซิโนแวกอีก 8 ล้านโดส ก็จะทำให้ครบ 100 ล้านโดสตามแผนที่กำหนด ซึ่งภายในเดือนมิ.ย.นี้น่าจะมีข่าวดี