ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีประชากรประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 6 ล้านคน จึงจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อเพื่อยับยั้งการระบาดของโควิด-19 รวมแล้วต้องให้บริการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 12 ล้านโดส และควรฉีดให้เสร็จใน 4 เดือน หรือ 120 วัน เพราะหากช้ากว่านี้ อาจจะมีปัญหาในการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ
ดังนั้น ใน กทม.ต้องฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 1 แสนโดส แต่การเปิดจุดบริการฉีดวัคซีนน้อยแห่งจะทำให้เป็นไปได้ยากมากถึงมากที่สุด โดยขณะนี้ กทม. มีจุดบริการฉีดวัคซีนไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง ยังไม่รวมของมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่ละจุดบริการควรฉีดได้ 3-5 พันรายทุกวันโดยไม่มีวันหยุด ในการเริ่มต้นแรกๆ แต่ละจุดอาจจะฉีดได้ไม่ถึงเป้า จึงควรปรับระบบไปทุกวัน พร้อมกับการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไม่ลังเลที่จะฉีดและอำนวยความสะดวกในการไปรับการฉีด
ทั้งนี้ การกระจายวัคซีนของกรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร (กทม.) และมหาวิทยาลัยในสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในขณะนี้ถูกต้องเหมาะสมแล้ว
"ในช่วงนี้ที่ปริมาณวัคซีนกำลังทยอยเข้ามา จึงเหมาะแล้วที่ควรให้เริ่มไปช่วยกันหลายๆแห่งเพราะทุกๆที่ต้องใช้เวลาพัฒนาขบวนการให้ได้เร็วและใช้คนประจำให้น้อยให้ได้เพราะต้องทำกันอีกนานมากๆๆ" นพ.นิธิ ระบุ
สำหรับประชากร 6 แสนกว่าคนที่ได้ลงทะเบียนรอมารับการฉีดวัคซีนที่ศูนย์บริการวัคซีนของราชวิทยาลัยฯ และได้รับหมายเลข ID ที่ไปแล้ว ผู้ที่ได้รับหมายเลข ID มากกว่า 250000 ขึ้นไปที่สามารถหาจุดฉีดวัคซีนที่อื่นๆ ใน กทม.ได้ นพ.นิธิ กล่าวว่า ขอแนะนำว่าให้ไปลงทะเบียนและหาที่ฉีดวัคซีนโดยเร็ว โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการรุนแรงถ้าติดเชื้อและผู้ที่เสี่ยงสูงในการได้รับเชื้อและแพร่เชื้อได้ง่าย
ส่วนผู้สูงอายุ ผู้ป่วยของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และผู้ด้อยโอกาสที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตหรือการจองออนไลน์ รวมถึงผู้ที่ไว้วางใจโรงพยาบาลจุฬาภรณ์โรงพยาบาลจะทยอยเรียกเข้ามารับวัคซีนต่อไปโดยเร็ว เช่นเดียวกันกับผู้ที่มีนัดรับวัคซีนเข็มที่สองยังเข้ามารับตามนัด และเมื่อมีวัคซีนมาเพื่มปรับแผนใหม่จะแจ้งอีกครั้ง