สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ข้อมูลข่าวสารในยุคโควิด-19" ที่ประชาชนมักจะติดตามข่าวสารผ่านสื่อต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งข่าวจริง ข่าวลวง หรือข่าวที่เป็นกระแส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโควิด-19 เช่นนี้ โดยเมื่อถามถึงการติดตามข้อมูลข่าวสารของประชาชนในยุคโควิด-19 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 29.43% ตอบว่าขึ้นอยู่กับความสะดวก รองลงมา คือติดตามทั้งวัน ส่วนช่องทางในการติดตามข้อมูลข่าวสารของประชาชน พบว่าส่วนใหญ่ถึง 74.81% ติดตามจากสื่อโซเชียลมีเดีย รองลงมา คือ โทรทัศน์
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ในปัจจุบัน พบว่า อันดับ 1 ให้ความรู้ในแง่มุมใหม่ ๆ มีการวิเคราะห์เชิงลึก อันดับ 2 มีข่าวลือ เฟคนิวส์ ข้อมูลเกินจริง และอันดับ 3 ข่าวเร็วมากขึ้น แชร์และส่งต่ออย่างรวดเร็ว เมื่อถามว่าข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือควรมีลักษณะอย่างไร อันดับ 1 ตอบว่า ระบุที่มา/ผู้ให้ข้อมูล มีแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจน อันดับ 2 มาจากหน่วยงาน/องค์กรที่มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับ อันดับ 3 มีหลักฐานประกอบที่ชัดเจน
สำหรับอันดับของสื่อที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 85.24% เชื่อมั่นการนำเสนอข่าวสารจากโทรทัศน์สูงสุดเป็นอันดับแรก อันดับ 2 ประชาชน 69.33% เชื่อมั่นนักวิชาการ/นักวิเคราะห์/นักวิจัย อันดับ 3 ประชาชน 67.56% เชื่อมั่นหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน อันดับ 4 ประชาชน 57.79% เชื่อมั่นหนังสือพิมพ์ และอันดับ 5 ประชาชน 49.38% เชื่อมั่นเว็บไซต์ของสำนักข่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่อยากฝากถึงสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร มีดังนี้ อันดับ 1 นำเสนอข่าวตามความเป็นจริง /ไม่บิดเบือน อันดับ 2 มีจรรยาบรรณและจิตสำนึกในการทำหน้าที่ อันดับ 3 นำเสนอข่าวอย่างสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อสังคม อันดับ 4 ไม่ชี้นำ ไม่เอนเอียง และอันดับ 5 ตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าว/ผู้ให้ข่าวอย่างละเอียด
อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,213 คน (สำรวจทางออนไลน์) ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 31 พ.ค. - 3 มิ.ย. 64