ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,671 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,095 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 889 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 604 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 83 ราย โดยในจำนวนนี้ยังพบผู้ลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายจากกัมพูชา
- มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 23 ราย เป็นชาย 12 ราย หญิง 11 ราย อายุระหว่าง 32-79 ปี ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค และผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวเพียง 1 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 177,467 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 126,517 ราย เพิ่มขึ้น 2,242 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 1,236 ราย
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า จังหวัดกรุงเทพฯ ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยวันนี้มีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มอีก 675 ราย รองลงมา สมุทรสาคร 288 ราย, เพชรบุรี 196 ราย, นนทบุรี 163 ราย และสมุทรปราการ 124 ราย ซึ่งทั้ง 5 จังหวัดนี้ยังพบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับ 100 ราย/วัน
โดยวันนี้ในกรุงเทพฯ พบคลัสเตอร์การระบาดใหม่เพิ่มใน 4 เขต รวม 5 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย เขตดุสิต ตลาดเทเวศร์, เขตราชเทวี ชุมชนเพชรบุรี ซอย 10/ซอยหลัง รร.กิ่งเพชร, เขตลาดพร้าว แคมป์ก่อสร้าง บริษัทซิโน-ไทย, เขตวัฒนา ชุมชนมาชิม และชุมชนเฉลิมอนุสรณ์ ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพฯ ยังมีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังรวมทั้งหมด 63 แห่ง
นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวด้วยว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รายงานผลการตรวจสอบแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งหมด 409 แห่ง ล่าสุดตรวจไปแล้ว 367 แห่ง พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 270 แห่ง และไม่ผ่านเกณฑ์ 97 แห่ง โดยได้มีการเข้าไปประเมินทั้งในส่วนของบริษัทที่เป็นผู้ว่าจ้าง และในส่วนของคนงาน ซึ่งในส่วนของบริษัทที่เป็นผู้ว่าจ้างนั้น พบว่ายังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการปรับปรุงเพิ่มเติม คือ การวางแผนเตรียมพร้อมเมื่อพบผู้ติดเชื้อในแคมป์คนงาน, การสื่อสารข้อมูลและให้ความรู้กับแรงงาน ซึ่งมีทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ, การจัดที่นั่งรับประทานอาหารในแคมป์คนงาน ขณะที่ในส่วนของคนงานนั้น มีสิ่งที่ต้องปรับปรุง เช่น การอาบน้ำร่วมกัน, การจัดกิจกรรมหลังเลิกงาน เช่น กินอาหารร่วมกัน เป็นต้น ทั้งนี้ การประเมินผลดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องและได้มาตรฐานความปลอดภัยในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป
โฆษก ศบค. กล่าวด้วยว่า ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ยังได้กล่าวถึงการนำแรงงานสัญชาติไทยกลับเข้ามาในราชอาณาจักรว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.63 - 4 มิ.ย.64 มีคนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบก รวมสะสมแล้ว 43,006 คน ในจำนวนนี้เดินทางมาจากมาเลเซีย สูงสุด 30,941 ราย ลาว 6,302 ราย กัมพูชา 3,547 ราย และเมียนมา 2,216 ราย
พร้อมกันนี้ ศปม.ยังได้วางแนวทางปฏิบัติสำหรับคนไทยที่ต้องการเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนในพื้นที่ชายแดน โดยขอให้ไปลงทะเบียนออนไลน์ผ่านระบบของกระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นรอรับหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกุงสุลใหญ่ ทั้งนี้ ต้องยอมรับการกักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนดเป็นเวลา 14 วันเมื่อเดินทางมาถึงไทย และต้องเดินทางตามวัน และจุดผ่านแดนที่ได้กำหนดไว้เท่านั้น
ส่วนสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย ล่าสุดจนถึงวันที่ 6 มิ.ย.64 จัดสรรวัคซีนทั้งหมด 4.19 ล้านโดส แบ่งเป็น ผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 2.84 ล้านราย ส่วนผู้ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มแล้ว 1.34 ล้านราย
ส่วนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 173,717,565 ราย เสียชีวิต3,736,092 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 34,204,374 ราย อันดับสอง อินเดีย 28,808,372 ราย อันดับสาม บราซิล 16,907,425 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,707,683 ราย และอันดับห้า ตุรกี 5,282,594 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 80