นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า หากสถานการณ์การเข้าถึงวัคซีนและการบริหารจัดการฉีดวัคซีนดีขึ้นอย่างชัดเจน หลังการระดมฉีดวัคซีนในเดือนมิถุนายนแล้ว รัฐบาลควรรีบคลายล็อกดาวน์ในกิจการต่างๆ ทันที หากไม่มีการคลายล็อคดาวน์ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้ จะมีกิจการและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องปิดตัวอีกมาก และจะตามมาด้วยปัญหาการว่างงาน
ทั้งนี้ มองว่าการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยอมรับวัคซีนซิโนแวก ในฐานะวัคซีนฉุกเฉิน ทำให้ความเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการฉีดวัคซีนมีแนวโน้มดีขึ้น น่าจะทำให้ไทยสามารถเปิดประเทศได้ภายในปลายปีนี้
อย่างไรก็ดี แม้จะเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกจากการรณรงค์วัคซีนเพิ่มขึ้น แต่การฟื้นตัวก็มีแนวโน้มที่จะไม่สม่ำเสมอและเปราะบาง ในส่วนของไทยนั้น มีโอกาสเกิดการแพร่ระบาดในระลอกสี่ได้ เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอและความไร้ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายของแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน การล้มละลายของกิจการและการว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าการแพร่ระบาดระลอกสาม ซึ่งนำมาสู่ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยทางสังคม และวิกฤตการณ์ทางการเมืองได้
ฉะนั้น รัฐบาลต้องมุ่งไปที่มาตรการรองรับกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจ และผู้ว่างงาน และต้องมีมาตรกรการเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ต่างจังหวัด สนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมและแปรรูปอาหาร ชดเชยงานในภาคบริการท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่อง
"ประเมินในเบื้องต้น ประเทศไทยน่าจะตกอันดับลงมาจากประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง มาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำได้ หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงปรับตัวติดลบต่อเนื่องอีกหลายปี ผลกระทบต่อเนื่องของการว่างงาน และการสูญเสียรายได้จำนวนมากอาจอยู่กับเราอีกหลายปี อัตราการสูญเสียรายได้เฉลี่ยและอัตราสูญเสียชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยน่าจะไม่ต่ำกว่า 20-30%" นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมมองว่า ผลกระทบของการไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในระลอกสี่ จะทำให้เกิดการสูญเสียสุขภาพ ความไม่มั่นใจต่อวัคซีน ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขและต้นทุนการป้องกันโรคเพิ่มสูงขึ้น ศักยภาพทางเศรษฐกิจถดถอยลง ความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นอย่างชัดเจน ฉะนั้นเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมไทยที่ต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในระลอกสี่ด้วยการฉีดวัคซีน ปฏิบัติตามมาตรฐานทางด้านสาธารณสุข ทั้งในครอบครัว ที่ทำงาน และในที่สาธารณะ
นายอนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า การผลิตวัคซีนของบริษัท สยามไบโอไซน์ (Siam Bioscience) ที่ได้มาตรฐานสูง จะเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาและไบโอเทคโนโลยีในอนาคตของประเทศ อย่างไรก็ตาม การผลิตยาหรือวัคซีนภายใต้ทรัพย์สินทางปัญญาของบรรษัทข้ามชาติย่อมมีข้อจำกัด ในอนาคตประเทศไทยควรมีบริษัทที่สามารถผลิตวัคซีนภายใต้ทรัพย์สินปัญญาของประเทศไทยเอง ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ ระบบสาธารณสุข และสุขภาพของประชาชน จะได้ไม่ต้องขึ้นอยู่กับบริษัทยาและวัคซีนข้ามชาติมากเกินไป
นอกจากนี้ รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนศึกษาวิจัยสมุนไพรไทย ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรฟ้าทะลายโจร สมุนไพรกระชาย เพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านป้องกันและรักษาโรค เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต โดยรัฐบาลสามารถส่งเสริมการศึกษาวิจัย สร้างนวัตกรรมจากสมุนไพรไทย โดยทำโครงการ 4 ประสาน เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง 1.องค์การอนามัยโลก 2.หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข เช่น กรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม เป็นต้น 3.มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่างๆ ในประเทศและต่างประเทศ 4.บริษัทยา ทั้งในและต่างประเทศ
"การวิจัยสมุนไพรไทย ก็จะไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะคนไทย แต่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติโดยรวม การบริหารทรัพย์สินทางปัญญาก็ให้เน้นไปเพื่อสาธารณประโยชน์ มากกว่าการสร้างแรงจูงใจทางธุรกิจหรือเชิงพาณิชย์" นายอนุสรณ์กล่าว
พร้อมระบุว่า แอสตร้าเซนเนก้า โดยสยามไบโอไซน์ จะส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาโรคระบาดอุบัติใหม่ในอนาคต และผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง และโควต้า 65 ล้านโดสของไทยนั้น บริษัทสยามไบโอไซน์ ควรวางแผนทำวิจัยเพิ่มเติมร่วมกับบริษัทแอสตาเซเนกา เพื่อพัฒนาวัคซีนแอสตราเซเนกาสำหรับเชื้อกลายพันธุ์ด้วย และปรับการผลิตจากโควต้า 65 ล้านโดสให้เป็นวัคซีนสำหรับต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ในอนาคต
นอกจากนี้ ไทยยังจะสามารถส่งออกวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งสยามไบโอไซน์ควรคิดค่าวัคซีนในราคาถูกพิเศษสำหรับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศที่ไทยต้องอาศัยแรงงานต่างด้าว เช่น ลาว เขมร พม่า