นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้พื้นที่ปลูกข้าวนาปี ได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำ ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน เร่งเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดนั้น กรมชลประทาน ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่รับทราบอย่างต่อเนื่อง พร้อมชี้แจงถึงกติกาการสูบน้ำตามรอบเวรให้กับเกษตรกรผู้ใช้น้ำในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรเป็นอย่างดี
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือ กรมชลประทาน โดยสำนักเครื่องจักรกล ได้นำเครื่องสูบน้ำเข้าติดตั้ง พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำในหลายพื้นที่แล้ว อาทิ ที่จังหวัดพิษณุโลก ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขับด้วยเครื่องดีเซลขนาด 12 นิ้ว บริเวณคลองบางแก้ว ตำบลท่านางงาม อำเภอบางระกำ และบริเวณคลองวัดขอน ตำบลศรีภิรมย์ อำเภอพรหมพิราม สูบน้ำจากคลองบางแก้ว และคลองวัดขอน ส่งไปยังคลองซอยต่างๆ วันละประมาณ 47,500 ลบ.ม. ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีกว่า 2,000 ไร่
ด้านจังหวัดชัยนาท ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขับด้วยระบบไฮดรอลิคขนาด 24 นิ้ว และขนาด 28 นิ้ว บริเวณคลอง2 (ซ้าย) ตำบลชัยนาท อำเภอเมืองชัยนาท สูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งไปยังคลอง2 (ซ้าย) วันละประมาณ 198,000 ลบ.ม. ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและเพาะปลูกข้าวนาปีกว่า 7,000 ไร่
นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ และเครื่องจักรกลอื่นๆ ที่พร้อมจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ทำนาปีไปแล้ว รวมไปถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ ถึงแม้ว่าในช่วงนี้จะมีฝนตกลงมาบ้างแล้วในหลายพื้นที่ แต่น้ำต้นทุนที่มีอยู่ในเขื่อนต่างๆ ยังไม่เพียงพอที่จะส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงจำเป็นต้องทำการจัดสรรน้ำตามรอบเวร เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างทั่วถึง ลดผลกระทบต่อผลผลิตที่อาจจะได้รับความเสียหายได้ สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก ขอให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน จนกว่าจะมีฝนตกชุกในพื้นที่สม่ำเสมอและมีน้ำเพียงพอ
อนึ่ง กรมชลประทานจะมุ่งมั่นบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เพียงพอใช้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำที่มากขึ้นในอนาคต โดยการเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และใช้ประโยชน์จากน้ำท่าตามธรรมชาติให้มากที่สุด จึงขอให้เกษตรกรติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำได้จากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ รวมถึงติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการเพาะปลูกพืชและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น