ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,290 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,334 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 632 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 294 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 30 ราย
- มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 27 ราย เป็นชาย 15 ราย หญิง 12 ราย อายุระหว่าง 48-94 ปี โดยมาจาก กทม. 17 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 189,828 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 144,998 ราย เพิ่มขึ้น 5,711 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 1,402 ราย
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังคงเป็นจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยโควิดรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อวันสูงสุด โดยวันนี้อยู่ที่ 942 ราย รองลงมา เป็น จ.สมุทรปราการ 173 ราย จ. นนทบุรี 102 ราย นอกนั้นต่ำกว่าระดับ 100 คนต่อวัน
โดยที่ กทม.พบอีก 3 คลัสเตอร์ใหม่ คือที่เขตหลักสี่ เป็นแคมป์ก่อสร้างวรสิทธิ์ พบผู้ป่วย 59 ราย, เขตบางรักที่ตลาดซอยละลายทรัพย์ พบผู้ป่วย 20 ราย และเขตภาษีเจริญ โรงงานเย็บผ้าซีพีจี การ์เม้นท์ พบผู้ปวย 37 ราย
ส่วน จ.สมุทรปราการ ตรวจพบคลัสเตอร์ใหม่ที่ อ.บางเสาธง เป็นบริษัทเสื้อถักไหมพรมส่งออก พบผู้ป่วยใหม่ 67 ราย , จ.นนทบุรี พบเพิ่มอีก 11 ราย ที่แคมป์คนงานก่อสร้างใน 3 อำเภอ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว และที่ตลาดบางใหญ่อีก 12 ราย และ จ.นครปฐม พบคลัสเตอร์ใหม่ที่โรงงานชำแหละไก่ อ.สามพราน อีก 63 ราย
นอกจากนี้ ยังมีคลัสเตอร์ใหม่ใน จ.อื่นๆ อีก เช่น จ.สงขลา ที่ตลาดวชิราในอำเภอเมือง พบผู้ป่วยใหม่ 7 ราย โรงงานถุงมือยาง ในอำเภอสะเดา 19 ราย, จ.เพชรบุรี เพิ่มอีก 4 ราย ในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการรายงานอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันพบว่ามียอดผู้ป่วยสะสมในโรงงานดังกล่าวแล้วถึง 5,096 ราย นอกจากนี้ ยังมีคลัสเตอร์ใหม่อีก 24 ราย ที่โรงงานเฟอร์นิเจอร์ อำเภอเขาย้อย และคลัสเตอร์ใหม่ที่ จ.จันทบุรี มีผู้ป่วยอีก 13 ราย ที่ตลาดไทย-กัมพูชา ในอำเภอโป่งน้ำร้อน
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า แนวโน้มของผู้ป่วยโควิดที่มาจากระบบบริการและเฝ้าระวัง และการตรวจคัดกรองเชิงรุกยังมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เว้นแต่ในกลุ่มเรือนจำที่ผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง ดังนั้นในภาพรวมขณะนี้จึงยังไม่สามารถไว้วางใจได้ และยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไป ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จะยังมีการสุ่มตรวจและเฝ้าระวังในพื้นที่ 11 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นจุดเสี่ยงภายในชุมชน ได้แก่ สถานีขนส่ง สถานที่ต่ออายุแรงงานต่างด้าว หน่วยราชการด่านหน้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน สถานดูแลผู้สูงอายุ ศาสนสถาน แคมป์คนงาน เป็นต้น ดังนั้นจึงขอให้เจ้าของหน่วยงาน หรือเจ้าของสถานประกอบการให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดด้วย
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ในวันนี้ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้มีการรับทราบแนวทางการควบคุมโรคโดยหลักการ Bubble and Sealed ที่นำเสนอโดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูแลการแพร่ระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้าง ตลอดจนสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อ ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว
"วันนี้กรมควบคุมโรคได้นำเสนอเป็นไกด์ไลน์ Bubble and Sealed ต่อที่ประชุมศบค.ชุดเล็ก ซึ่งได้นำเสนอในที่ประชุม EOC ของกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการโรคติดต่อเห็นชอบในหลักการแล้ว ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กวันนี้ได้มีการหารือกัน และขอให้กรมควบคุมโรคกลับไปปรับ และจะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้ เพื่อให้ทุกจังหวัดได้ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน" พญ.อภิสมัยกล่าว
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 175,616,534 ราย เสียชีวิต 3,788,650 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 34,275,783 ราย อันดับสอง อินเดีย 29,273,338 ราย อันดับสาม บราซิล 17,215,159 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,729,967 ราย และอันดับห้า ตุรกี 5,313,098 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 79