นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่ ศบค.มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือมาตรการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน ทั้งในระดับประเทศและจังหวัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในโรงงานและปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ โดยจากการหารือมีความเห็นร่วมกันว่า การขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงานจะทำด้วยหลักการ "Online - Onsite - Upgrade -Vaccine"
1.Online - ให้เจ้าของโรงงานประเมินตนเอง โดยเร่งประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือโรงงานทั่วประเทศประเมินตนเองผ่าน Platform online : Thai Stop Covid plus และ Thai Save Thai ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน มิ.ย.64 โดยกลุ่มเป้าหมายแรกเป็นโรงงานที่มีคนงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป จำนวน 3,304 ราย ให้แล้วเสร็จภายใน 15 มิ.ย.64 ซึ่งรายงานล่าสุดพบว่ากลุ่มเป้าหมายมีการประเมินตนเองผ่าน Platform ดังกล่าว ณ วันที่ 10 มิ.ย.64 เพิ่มขึ้นเป็น 1,722 ราย หรือคิดเป็น 52% แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการให้ความสำคัญและเริ่มดำเนินการเพิ่มมากขึ้น
2.Onsite - จัดทีมแนะนำและติดตามการประเมินตนเอง โดยให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ของกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และ BOI ร่วมกันจัดทีมสุ่มตรวจประเมินโรงงานในพื้นที่ (On-site) ให้ได้ 10-20% ของสถานประกอบการเป้าหมาย อาทิ สถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญในพื้นที่ สถานประกอบการที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 สถานประกอบการที่ได้คะแนนการประเมินตนเองในแฟลตฟอร์ม Thai Stop Covid Plus ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด กำกับ และติดตามผลการประเมินตนเองของโรงงานในพื้นที่และรายงานข้อมูลตามแผนการตรวจประเมินเสนอผลการรายงานมายังกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นรายสัปดาห์ โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย.64
3.Upgrade - จัดมาตรการลดความเสี่ยง เพิ่มศักยภาพ ด้วยการจัดทำมาตรการฟื้นฟูสถานประกอบการจากโควิด-19 หลังจากโรงงานประเมินตนเองผ่านแฟลตฟอร์ม Thai Stop Covid Plus และการลงพื้นที่ On-site ประเมินโรงงานเป้าหมายจะมีมาตรการเพื่อช่วย Upgrade สถานประกอบการให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งมีมาตรการเสริมแกร่งเพื่อช่วยให้โรงงานสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผลักดันการดำเนินงานต่อไป
4.Vaccine - เร่งรัดฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในโรงงาน เร่งผลักดันการเป็นศูนย์ให้บริการฉีดวัคซีนในพื้นที่ นิคม/เขต/สวนอุตสาหกรรม และโรงงานขนาดใหญ่ที่มีคนงานมากกว่า 2,000 คน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลในการเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงที่เป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม รวมถึงประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบ นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ รวมทั้งเพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมส่งออกที่จะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาในไตรมาส 3 และ 4 โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ซึ่งขยายตัวมากกว่า 10% จากการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนฯ ให้กับแรงงานภาคอุตสาหกรรมแล้วจำนวน 27 แห่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบแล้ว 6 แห่ง (นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ชลบุรี) นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สวนอุตสาหกรรมบางกะดี และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ) และอยู่ระหว่างขอความเห็นชอบ 21 แห่ง ทั้งนี้จะขอความอนุเคราะห์จาก ศบค. พิจารณาให้ความสำคัญต่อการจัดสรรวัคซีนให้กับศูนย์ฉีดวัคซีนฯ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ที่จะร่วมสุ่มตรวจ Onsite ในโรงงานกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น
"จะขอให้เจ้าของโรงงานประเมินตัวเองถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 หากรายใดไม่ผ่านหลักเกณฑ์ก็จะส่งทีมงานเข้าไปให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงกิจการให้ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด" นายสุริยะ กล่าว
ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือแนวทางเพื่อกำหนดมาตรการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากร และแรงงานในสถานประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่แรงงานให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้ภาคธุรกิจได้มีการขับเคลื่อนต่อไปได้โดยเร็ว
"กระทรวงแรงงานได้ผลักดันให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 11 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการ เพราะหากเกิดการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจนต้องปิดกิจการชั่วคราวจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.64" นายสุชาติ กล่าว
นอกจากนี้ยังได้มีการหารือถึงการเตรียมความพร้อมของศูนย์กระจายฉีดวัคซีนในสถานประกอบกิจการโรงงานทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม และการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตลอดจนแผนการตรวจเยี่ยมศูนย์กระจายฉีดวัคซีนในนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองอีกด้วย
"ถ้าได้รับการจัดสรรวัคซีนในสัดส่วนที่ร้องขอไป เชื่อว่าจะฉีดได้ตามแผน ซึ่งในช่วง 4 วันที่ผ่านเราสามารถฉีดได้ราว 2 แสนราย หรือเฉลี่ยวันละ 5 หมื่นราย" นายสุชาติ กล่าว
โดยกระทรวงแรงงานกำหนดแผนฉีดวัคซีนไว้ 3 ระดับ คือ 1.พื้นที่ กทม.ที่เป็นไข่แดงหรือศูนย์กลางการแพร่ระบาดต้องเร่งดำเนินการก่อน หลังจากนั้นจะขยายไปยัง 2.พื้นที่ที่มีนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 11 จังหวัดที่เป็นไข่ขาว และ 3.พื้นที่รอบนอกที่เหลืออีกกว่า 60 จังหวัด หรือขอบกระทะ
ส่วนที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชะลอการให้บริการฉีดช่วงวันที่ 12-27 มิ.ย.64 นั้น เนื่องจากมีปัญหาเรื่องข้อมูลของบางบริษัทที่มีความซ้ำซ้อน เนื่องจากไม่ได้คัดแยกรายชื่อผู้ที่ได้รับวัคซีนจากส่วนอื่นออกไป พอถึงเวลาทำให้ไม่มีผู้มาฉีดตามที่นัดไว้ ซึ่ง สปส.ขอเวลาในการเคลียร์ข้อมูลให้เรียบร้อยสัก 10 วันก็จะกลับมาให้บริการฉีดอีกครั้ง