นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้ สทนช. บูรณาการการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแผนแม่บทด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภคที่มีเป้าประสงค์ในการจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชน ครบทุกหมู่บ้านหรือทุกครัวเรือน ชุมชนเมือง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งการจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ซึ่งขาดแคลนแหล่งน้ำต้นทุน พัฒนาน้ำดื่มให้ได้มาตรฐาน ในราคาที่เหมาะสม และส่งเสริมการประหยัดน้ำในทุกภาคส่วน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 6 "การเข้าถึงการใช้น้ำสะอาดและสุขาภิบาลที่ดี" ที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนา การขยายเขตและการเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน โดยก่อสร้างระบบประปา จำนวน 256 หมู่บ้าน และปรับปรุงซ่อมแซมระบบประปาหมู่บ้านที่ชำรุดเสียหาย จำนวน 14,534 หมู่บ้าน ให้แล้วเสร็จภายในปี 2573
สำหรับผลงานดำเนินงานในช่วง 5 ปีแรก (พ.ศ.2561-2565) สามารถขับเคลื่อนผลงานได้ตามเป้าหมาย โดยสามารถดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้านไปแล้วทั้งสิ้น 3,214 แห่ง โดยเฉพาะในเขตเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ดำเนินการขยายเขต/เพิ่มเขตจ่ายน้ำได้ จำนวน 556 แห่ง ประชาชนได้รับประโยชน์ 62,222 ครัวเรือน จัดทำแผนระบบประปาเมืองหลัก/พื้นที่เศรษฐกิจได้ จำนวน 2 แห่ง ประชาชนได้รับประโยชน์ 4,800 ครัวเรือน และจัดหาแหล่งน้ำสำรอง/น้ำต้นทุนได้ จำนวน 7 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 5.03 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) นอกจากนี้ สทนช.ยังได้บูรณาการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการขับเคลื่อนการขุดเจาะน้ำบาดาลสำหรับการอุปโภคบริโภค โดยผลงานตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการขุดบ่อบาดาลไปแล้ว จำนวน 2,138 แห่ง ได้ปริมาณน้ำ 0.55 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนรับประโยชน์ 319,350 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 70 จังหวัดทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รัฐบาลยังได้จัดสรรงบกลางตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งหมด 3 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 วันที่ 17 มีนาคม 2563 และวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ให้กรมทรัพยากรน้ำบาลดำเนินการขุดเจาะน้ำบาดาล จำนวน 839 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 9,340 ไร่ ได้ปริมาณน้ำบาดาล 41 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 127,245 ครัวเรือน รวมทั้งยังได้จัดสรรงบกลางให้การดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ในพื้นที่ 76 จังหวัด อีก 998 แห่ง และดำเนินการศึกษาสำรวจและก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นในพื้นที่แอ่งน้ำบาดาลเจ้าพระยาตอนบนและจันทบุรี-ตราด 530 แห่ง ในขณะที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้รับงบประมาณประจำปี 2563 รายการเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนการก่อสร้าง/ปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการน้ำระบบธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 1,696 บ่อ และในปี 2564 ดำเนินการเพิ่มเติมอีก 28,101 บ่อ
"นอกจากผลการดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ในด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภคดังกล่าวแล้ว สทนช.ยังเดินหน้าบูรณาการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในด้านอื่นๆ ให้ครบทั้ง 6 ด้าน โดยเฉพาะผลการดำเนินการในด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน สามารถพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น 1,138 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 2.5 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ชลประทาน 1.4 ล้านไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 2.27 ล้านครัวเรือน ทั้งนี้ แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ได้กำหนดเป้าหมายดำเนินการ 6 ด้าน เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศ เปรียบเสมือนแผนที่นำทางให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถผสานการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ได้อย่างสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะเป็นกลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างบูรณาการในทุกมิติ สร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำได้อย่างยั่งยืน" เลขาธิการ สทนช. กล่าว